เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาออนไลน์ “วัคซีนโควิด-19 สำหรับสื่อมวลชน” ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติโควิด-19 ก.ค. มีผู้ป่วยรายวันสูง วันละ 9 พันกว่าราย วันนี้เสียชีวิตเกือบแตะหลักร้อยราย สูงสุดตั้งแต่ที่มีการระบาดในประเทศ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เร่งทำการควบคุมโรคอยู่ แต่สถานการณ์จะอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงไปอีกสักระยะ การป้องกันการติดเชื้อจึงมีความสำคัญมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอกจากมาตรการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างล้างมือแล้ว การฉีดวัคซีนก็สำคัญเพราะป้องกันการป่วยด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้ติดเชื้อ แต่ฉีดแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อได้ วัคซีนทุกตัวทั้งที่มีในไทย หรือยังไม่มีเหมือนกัน แต่จะป่วยไม่รุนแรง โอกาสเสียชีวิตก็ลดลงเมื่อเทียบกับคนไม่ฉีด
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เพื่อให้การฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งส่วนหนึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นความดัน ดังนั้นจะมีการส่งข้อเสนอเข้าคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีน ช่วงสัปดาห์หน้าคือเสนอให้ยกเลิกการวัดความดันโลหิต จะช่วยให้ฉีดได้เร็วขึ้น เพราะส่วนใหญ่เข้าถึงการวัดความดันในสถานพยาบาลทั่วไป รวมถึงร้านขายยาด้วย ส่วนปริมาณวัคซีนจะเพียงพอหรือไม่นั้นขอชี้แจงว่าเรามุ่งไปที่การฉีดเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและเข้า รพ. เรามีวัคซีนพอในช่วง 1-2 เดือน แน่นอน เพราะประชากรกลุ่มนี้ 10 กว่าล้านคน รวมถึงการฉีดในต่างจังหวัดก็ต้องเน้น 2 กลุ่มนี้ด้วย ส่วนวัยทำงาน วัยหนุ่มสาวต้องรอสักระยะ เพราะวัคซีนเป็นแบบผลิต และส่งมอบเป็นระยะ เดือนหนึ่งมีเข้ามาประมาณ 10 ล้านโด๊ส สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่จะมา 1.5 ล้านโด๊ส นั้นจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเดิมคือป้องกันการเสียชีวิต ดังนั้นก็จะให้กลุ่มเสี่ยง และให้กับบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า ดังนั้นบุคลากรที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้ว สามารถบูสเข็ม 3 สามารถแจ้งความจำนงฉีดได้ทั้งแอสตราฯ หรือไฟเซอร์ที่จะมาปลายเดือนนี้ อีกส่วนหนึ่งจะกันให้กับต่างชาติด้วย เพราะนโยบายรัฐบาลเมื่อรับวัคซีนบริจาคมาจะมีการฉีดให้ต่างชาติในไทยด้วย ซึ่งในนั้นก็จะมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย
“ตอนนี้ลูกหลานทุกคน ต้องคิดเสมอว่าต้องปกป้องผู้สูงอายุ หาโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ฉีดวัคซีน ซึ่งสำคัญมาก จึงขอเชิญชวนปักธงหน้าบ้านให้รู้ว่าบ้านนี้มีผู้สูงอายุไม่ไดฉีดวัคซีน จะได้เห็นชัดๆ เลย” นพ.โสภณ กล่าว
สำหรับการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ระหว่างซิโนแวค และแอสตราฯ นั้นได้มีการประชุมของคณะกรรมการวิชาการเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ก็เห็นด้วยตามนั้น และเสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะภาวะฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุข และเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (15 ก.ค.) ที่ประชุม ศบค.สธ. ก็มีมติในทิศทางเดิมว่าควรได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค และตามด้วยแอสตราฯ ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ จากนี้จะเสนอ ศบค.ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ เมื่อผ่านการพิจารณาหลายชุดหลายคณะและเห็นชอบตรงกัน ก็สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนตามสูตรสลับวัคซีนในสัปดาห์หน้า และดูว่าคนที่ฉีดซิโนแวคเข็มแรกไปแล้ว หากสัปดาห์ตรงกับวันนัดเข็ม 2 ก็ฉีดแอสตราฯ ให้เป็นเข็ม 2 เลย สำหรับคนที่ฉีดแอสตราฯ เป็นเข็มแรก เข็ม 2 ยังเป็นแอสตราฯ
เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานว่าวัคซีนแอสตราฯ 61 ล้านโด๊สมาไม่ทันปี 2564 นพ.โสภณ กล่าวว่า ตอนนี้เดือน ก.ค. เหลือ 5 เดือนกว่าจะสิ้นปี การสั่งจองวัคซีนของเราตอนแรกสั่ง 26 ล้านโด๊สโดยคาดว่า หากไม่ระบาดรุนแรงจะทยอยฉีดวัคซีนไปถึงสิ้นปี ต่อมาเมื่อ ม.ค. 64 รัฐบาลพิจารณาราแล้วสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จึงมอบให้กรมควบคุมโรค สั่งจองเพิ่ม 35 ล้านโด๊ส รวมเป็น 61 ล้านโด๊ส โดยบอกกับบริษัทว่าช่วยส่งภายในปี 2564 ด้วย ซึ่งบริษัทไม่ได้คิดค่ามัดจำเพิ่มและพยายามทำตามคำขอ
ทั้งนี้ในสัญญาไม่ได้ระบุวันส่งมอบว่าวันที่เท่าไหร่ เพราะการสั่งจองครั้งแรกตั้งแต่วัคซีนยังไม่สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทที่ผลิตอยู่ในประเทศไทย แต่มีออร์เดอร์จากต่างประเทศเช่นกัน ก็พยายามให้ไทยได้สัดส่วนมากที่สุด ตอนนี้ เราก็ได้มากที่สุดเมื่อเทียบสัดส่วนวัคซีนที่เขาผลิตในแต่ละเดือน จริงๆ เราจะจองวัคซีนประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตของเขา ทางบริษัทก็พยายามส่งให้เร็วขึ้น และพยายามเร่งผลผลิต ดังนั้นไม่สามารถสรุปตอนนี้ได้ว่าเขาจะส่งไม่ทันในปีนี้แน่ๆ เพราะยังมีความพยายาม และเทคโนโลยีก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ บริษัทก็พยายามส่งมอบ เป็นไปได้ คิดว่าคงจะได้วัคซีนมากที่สุดในโควตาที่จองไว้
เมื่อถามต่อว่าในสัญญาไม่ได้ระบุว่าขยายเวลาส่งมอบไปถึงเดือน พ.ค. 2565 เพราะมีผู้บริหารบางท่านให้ข้อมูลไว้ นพ.โสภณ กล่าวว่า การส่งมอบมีไทม์ไลน์กว้างๆ และมีการระบุจำนวน หมายความว่า หากบริษัทจะส่งเกินไปปีหน้าก็สามารถดำเนินการได้ เพราะสัญญากำหนดไว้ก่อนมีวัคซีนจริง ดังนั้น ในเรื่องระยะเวลาแต่ละเดือนจึงไม่ได้บอกว่าจะส่งเท่าไหร่ ที่เราเห็นบ่อยๆ คือ 6 ล้านในเดือน มิ.ย. และ 10 ล้านในเดือน ก.ค. ถึง พ.ย. และจบท้าย 5 ล้านโด๊สเดือน ธ.ค. ตรงนั้นเป็นศักยภาพการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เพราะเคยประมาณการ หากเราต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน 70% หรือ 50 ล้านคน หรือรวม 100 ล้านโด๊สจะฉีดได้ทันหรือไม่ ก็ประมาณการเบื้องต้นว่า หากใช้ รพ.ทุกแห่งของ สธ. และรัฐส่วนอื่นๆ ประมาณ 1,000 แห่ง โดย รพ.ละ 500 คนต่อวัน ก็ได้ประมาณ 5 แสนโด๊สต่อวัน คูณ 20 วันทำการก็ประมาณ 10 ล้านโด๊สต่อเดือน จึงเป็นที่มาของกำลังการฉีดและนำไปช่วยวางแผน แน่นอนว่า ช่วงแรกบริษัทแอสตราฯ ก็ไม่สามารถจัดได้เต็ม เพราะบริษัทผลิตวัคซีนครั้งแรก ก็จะมีเรื่องจำนวนที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความคงตัวของผลผลิตที่ได้ แต่ก็ยังมีโอกาสรอดูอีก 5 เดือนครั้งหน้า แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่บางส่วนอาจขยับไปปีหน้า
เมื่อถามว่าในเดือน ก.ค. แอสตราฯ ส่งมอบเท่าไหร่ และเมื่อปรับสลับวัคซีนต้องเพิ่มแอสตราฯ หรือไม่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เท่าที่ดูแผนการส่งมอบวัคซีนของบริษัท บวกกับวัคซีนจากญี่ปุ่น 1 ล้านโด๊ส ในเดือนนี้จะมีมากกว่าเดือนที่ผ่านมา แม้จะปรับสูตรการฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตราฯ แต่อย่าลืมเดิมเราฉีดแอสตราฯ เป็นเข็มที่ 1 ทั้งหมด ดังนั้น จะมีส่วนหนึ่งที่เข็ม 1 มาใช้ซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตราฯ เมื่อคำนวณตัวเลขการเตรียมวัคซีนแอสตราฯ เพิ่มเข็มที่ 2 บวกกับของผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง หากวัคซีน 10 ล้านโด๊ส ก็จะมากกว่าเดือนที่แล้วนิดหน่อย ก็จะดำเนินการได้ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนต่อไปมากกว่า.