เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือใบวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2564 ที่ศูนย์สมุทรกีฬา อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่ง สมาคมฯ ได้ร่วมกับกองทัพเรือ และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดให้มีการสร้างเรือใบโอเค จำนวน 10 ลำ พร้อมจัดการแข่งขันเรือใบวันกีฬาแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 14-16 ธ.ค.64 ที่อ่าวดงตาล เพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในกีฬาเรือใบ อีกทั้งยังเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเผยแพร่กีฬาเรือใบ ให้เป็นที่แพร่หลาย ซึ่งการแข่งขันประกอบด้วย เรือใบ ประเภทโอเค ประเภทเลเซอร์ 4.7 และประเภทออพติมิสต์ มีเรือใบประเภทต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขัน 81 ลำ มีนักกีฬารวม 80 คน แบ่งเป็นประเภทโอเค 24 ลำ, เลเซอร์ 4.7 13 ลำ และออพติมิสต์ 44 ลำ ส่วนพิธีมอบรางวัล จะมีขึ้นในวันที่ 16 ธ.ค.นี้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษและทรงมีพระปรีชาสามารถในการแล่นใบ รวมทั้งมีพระอัจฉริยภาพในการต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง ทรงต่อเรือขึ้นมาอีกลำหนึ่งเป็นเรือใบประเภทโอเค พระราชทานนามเรือว่า “VEGA” หรือ เวคา (เป็นชื่อดาวที่สุกใสดวงหนึ่ง) ทรงใช้เรือลำนี้เสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวลหัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2509 ซึ่งต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย

จากนั้น เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จขึ้นประทับบนแท่นรับเหรียญรางวัลเนื่องในโอกาสที่ทรงเป็นนักกีฬาผู้ชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ซึ่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ชัยชนะในครั้งนั้นได้แสดงถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบให้เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกและพระองค์เดียวในทวีปเอเซีย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบนานาชาติ จนเป็นที่ยอมรับและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาระดับโลก และต่อมาทางราชการได้ถือวันที่ 16 ธ.ค.ของทุกปี เป็น “วันกีฬาแห่งชาติ” นับเป็นเกียรติประวัติแห่งความภาคภูมิใจของปวงชนชาวไทย มาจนถึงทุกวันนี้