สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ว่ากระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาออกแถลงการณ์  เกี่ยวกับมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอชอาร์ซี ) เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ที่เรียกร้อง "การเจรจาและการประนีประนอม" ระหว่างคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายในเมียนมา บนเแนวทางอันสร้างสรรค์และเป็นไปอย่างสันติ โดยคำนึงถึงความปรารถนาและผลประโยชน์ของชาวเมียนมาเป็นสำคัญ "รวมถึงชาวโรฮีนจา" ด้วยนั้น เป็นมติ "ที่มาจากการได้รับข่าวสารคลาดเคลื่อน" และ "เป็นการกล่าวหาเพียงฝ่ายเดียว"
ขณะเดียวกัน เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า "การใช้คำเกี่ยวกับโรฮีนจาในบริบททางการเมือง" เป็นเรื่องที่รัฐบาลเมียนมาไม่มีทางยอมรับอย่างเด็ดขาด เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าว "ไม่เคยได้รับการรับรอง" ในฐานะ "กลุ่มชาติพันธุ์แห่งเมียนมา" 

ทั้งนี้ สถานการณ์ของชาวโรฮีนจาในเมียนมาทวีความเลวร้าย นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เมื่อกองทัพเมียนมาภายใต้การนำของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ส่งทหารลงพื้นที่ในรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางตะวันตกของประเทศ “เพื่อปราบปรามกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่”


อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพเมียนมา ทำให้แกมเบียยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ( ไอซีเจ ) เมื่อปี 2562 ในนามรัฐสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม ( โอไอซี ) และ “ในฐานะตัวแทนของชาวโรฮีนจา” ฟ้องรัฐบาลเมียนมา ที่ในเวลานั้นมีนางออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำ ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฉบับปี 2491

ด้านนางซูจียืนกรานว่า "ไม่เคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในรัฐยะไข่" แต่คณะตุลาการของไอซีเจ พิพากษาให้เมียนมาต้องดำเนินการที่จำเป็น และเหมาะสมในรัฐยะไข่ เพื่อป้องปรามไม่ให้ "เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีก".

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES