เมื่อวันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิด การฝึกอบรมหลักสูตรสัตวแพทย์ผู้ควบคุมระบบการใช้ยาผสมอาหารสัตว์ในฟาร์ม โดยมีนายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ ปศุสัตว์เขต 1 นายสัตวแพทย์อดิศร ชาติสุภาพ ปศุสัตว์จังหวัดปทุมธานีให้การต้อนรับ และสัตวแพทย์หญิงจุฬาพร ศรีหนา นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มยาสัตว์และการจัดการเชื้อดื้อยา กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กล่าวรายงาน ในการการอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สัตวแพทย์มีความรู้และสามารถสั่งใช้ยาผสมอาหารสัตว์ได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับกฎหมายอาหารสัตว์ที่กำกับดูแลสัตวแพทย์ ควบคุมระบบการผลิตอาหารสัตว์ที่มียา เพื่อให้อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในภาคปศุสัตว์ การอบรมครั้งนี้มีสัตวแพทย์ภาคเอกชนเข้าร่วมอบรมจำนวน 64 คน และมีการเว้นระยะทางสังคมอย่างเคร่งครัดตามมาตรการป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 ณ โรงแรม ทินิดี โฮเท็ล แอท บางกอก กอล์ฟ คลับ จังหวัดปทุมธานี

นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่กรมปศุสัตว์และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในภาคปศุสัตว์ แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ในความมุ่งมั่นตั้งใจที่กรมปศุสัตว์ได้ร่วมดำเนินการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการลดการใช้ยาต้านจุลชีพและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในปศุสัตว์ (Prudent use) ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ ในการกำกับดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตตามหลักอาหารปลอดภัย (Food Safety) และหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) ซึ่งการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาในฟาร์มที่มีสัตวแพทย์เป็นผู้ควบคุมระบบการผลิต จำเป็นต้องมีความรู้และกำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนดและสอดคล้องกับหลักมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญในการลดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยหลังจากการฝึกอบรม สัตวแพทย์ทุกท่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยา รวมทั้งการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ได้อย่างถูกต้อง สามารถปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอาหารสัตว์ที่ผสมยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

“กรมปศุสัตว์ ได้ออกประกาศกฎหมายที่กำกับดูแลการผสมยาลงในอาหารสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือที่เรียกว่าการผสมยาใน Farm mixer โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 เนื่องจากการผสมยาในอาหารสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญในการรักษาภาวะการเจ็บป่วยของสัตว์ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสัตวแพทย์ ภายใต้การสั่งใช้ยาตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Prudent use) ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญในการลดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพได้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว