น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เร่งผลิตหมวกป้องกันเชื้อพีเอพีอาร์ ได้ประมาณ 300 ใบ ควบคู่การส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลแล้วกว่า 35 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเร่งผลิตและส่งมอบให้ได้ตามเป้า 500 ใบ ภายในเดือน ก.ค.นี้  พร้อมทั้งเตรียมจัดหาทุนเพิ่มสำหรับการผลิตหมวกฯ ให้ได้อีก 500 ใบ รวมเป็น 1,000 ใบ เพื่อเสริมศักยภาพให้ทีมแพทย์ใช้เป็นเกราะป้องกันภัยโควิดแทนชุดพีพีอี โดยหมวกพีเอพีอาร์นี้ มีคุณสมบัติพิเศษ ลมเป่าค่อนข้างเย็นทำให้หายใจง่าย และสามารถทำงานในอากาศร้อนได้ ตัวหมวกมีน้ำหนักเบา ใช้งานได้คล่องตัว รวมทั้งประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ที่ใช้งานต่อเนื่องสูงสุดถึง 8 ชั่วโมง

“ที่ผ่านมามักได้ยินข่าวบุคลากรทางการแพทย์ เผชิญความลำบากในการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยทั้งในห้องไอซียู ห้องผ่าตัดหรือห้องปลอดเชื้อ บางรายเป็นลมในชุดพีพีอี กฟผ. จึงได้เริ่มพัฒนาการผลิตหมวกป้องกันเชื้อพีเอพีอาร์ ร่วมกับทีมแพทย์จนมั่นใจในการใช้งานแล้วจึงทยอยส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ตามที่ได้มีการสำรวจความต้องการ โดยขั้นตอนการผลิตในห้องคลีน รูม เพื่อควบคุมความสะอาดตลอดขั้นตอนการผลิต ทดสอบให้ได้มาตรฐาน พร้อมบรรจุลงกล่องแยกชิ้นก่อนส่งมอบ จึงมั่นใจได้ว่าหมวกทุกใบสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อน 100%”

นางภานุ ศรีเสาวลักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลบ้านตาก กล่าวว่า หมวกป้องกันเชื้อพีเอพีอาร์ มีความจำเป็นมากสำหรับใส่ป้องกันตัวขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย โดยหลังจากทดลองใช้งานพบว่า สามารถสื่อสารระหว่างทีมแพทย์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะหมวกมีพัดลมมอเตอร์ที่สามารถปรับระดับเสียงและควบคุมความเร็วลมได้ด้วยตัวเอง อากาศที่เข้าไปไหลเวียนได้ดี ทำให้รู้สึกไม่ร้อนและไม่อึดอัด