นางแจ็คกี้ หวาง  ผู้อำนวยการ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า กูเกิล ได้ร่วมกับ แอลฟาเบต้า จัดทำรายงาน “การเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัลที่สามารถปลดล็อกมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศไทย” หรือ “Unlocking Thailand’s Digital Potential 2021” พบว่า หากประเทศไทยมีการเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัล และมีการนำไปใช้ประโยชน์กับ เศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้กับประเทศไทยได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาทต่อปี (7.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 73 หรือ จะมีมูลค่าเทียบเท่ากับ 16% ของ จีดีพี ประเทศไทยในปี 63 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ได้มีการคาดการณ์ว่า 65% ของโอกาสทางดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท (5.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะมาจากการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ในการบรรเทาผลกระทบ ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 นอกจากนี้ การเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัลยังมีส่วนสำคัญในการ กระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการฟื้นตัวในระยะยาวของธุรกิจไทย

ด้าน น.ส.เจเนเวียฟ ลิม ผู้บริหาร ของ แอลฟาเบต้า กล่าวว่า ปัจจุบัน อัตราการนำระบบดิจิทัลไปใช้ของธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยยังคงต่ำอยู่ โดยมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนทักษะดิจิทัล ความรู้ด้านเทคโนโลยี และบัณฑิต ด้านเทคโนโลยี รวมทั้งต้นทุนที่สูงของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น เครือข่าย 5 จี ฯลฯ ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาใน 3  เรื่อง เพื่อนำไปสู่การคว้าโอกาสทางดิจิทัล คือ 1.การช่วยให้ธุรกิจต่างๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัล ไปใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่นเรื่อง เอไอ ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ 2. การปรับปรุงการ ฝึกอบรมทักษะและการศึกษา ด้านระบบดิจิทัล โดยไทยมีทักษะพื้นฐานดิจิทัลเพียง 33% ขณะที่ค่าเฉลี่ย ของโลกอยู่ที่ประมาณ 60% และ 3. การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การค้าดิจิทัล เช่น ขยายไวไฟและอินเทอร์เน็ตใช้ได้กว้างขว้างทั่วถึงมากขึ้น ฯลฯ

“หนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานคือ ภาคธุรกิจอันดับต้นๆ อย่างค้าปลีก งานบริการ และการผลิต สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้ โดย 21% ของโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นของภาคผู้บริโภค ค้าปลีก และงานบริการ แสดงให้เห็นว่าผลของเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาคธุรกิจไอที เท่านั้น”