สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่า การประกาศโครงการรณรงค์ ให้ชาวจีนใช้ภาษาแมนดารินมากขึ้น ดูเหมือนจะเป็นภัยคุกคาม ต่อหลายภาษาจีนท้องถิ่น เช่น ภาษากวางตุ้ง และภาษาฮกเกี้ยน ซึ่งจะถูกกดดันมากขึ้น เช่นเดียวกับ ภาษาชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศ เช่น ทิเบต มองโกเลีย และอุยกูร์

คำสั่งที่ออกเมื่อวันอังคาร (30 พ.ย.) โดยคณะมนตรีรัฐกิจ (State Council) หรือคณะรัฐมนตรีจีน ระบุว่า การใช้ภาษาแมนดาริน หรือที่ชาวจีนเรียกว่า ผู่ทงฮว่า ยังคง “ไม่สมดุลและไม่เพียงพอ” จำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจยุคใหม่

กลุ่มคัดค้านกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา และเงื่อนไขการจ้างงาน กำลังทำลายบทบาทภาษาของชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง แผนการรณรงค์ของทางการปักกิ่ง เป็นการกำจัดวัฒนธรรม ที่ไม่สอดคล้องกับชาวฮั่น ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศจีน

นอกจากเป้าหมาย 85% ภายในปี พ.ศ. 2568 แล้ว รัฐบาลจีนยังต้องการให้ภาษาแมนดาริน เป็นภาษาสากลโดยสมบูรณ์แบบ ภายในปี พ.ศ. 2578 ประชาชนทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงท้องถิ่นชนบท และทุกชนกลุ่มน้อย ใช้ภาษานี้

การส่งเสริมภาษาจีนกลางเหนือภาษาอื่นๆ ก่อให้เกิดการประท้วงเป็นระยะ รวมถึงเมื่อปีที่แล้ว ที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางภาคเหนือ เมื่อรัฐบาลจีนสั่งให้ใช้ภาษาแมนดาริน แทนภาษามองโกเลีย สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกแห่งในเขต พรรคคอมมิวนิสต์จีนประณามกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน ว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน และปราบปรามอย่างเฉียบขาด โดยระบุว่า ความสอดคล้องกันทางภาษา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามัคคีของคนในชาติ.

เครดิตภาพ – Reuters, AP
เครดิตคลิป – DW News