รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ทล. ได้ประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เรื่องการขนส่งสินค้าข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก รฟท. มีแผนเพิ่มขบวนรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านแดนเส้นทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน ที่เริ่มภายในเดือน ก.ค.นี้ รวมถึงเปิดเส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาว วันที่ 2 ธ.ค.64 ซึ่งตรงกับวันชาติของ สปป.ลาว การประชุมครั้งนี้ รฟท. ขอปรับเพิ่มปริมาณการขนส่งตู้สินค้า (คอนเทเนอร์) และขบวนรถขนส่งสินค้าทางรถไฟ ผ่านเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง สถานีหนองคาย ไปยังย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) ท่านาแล้ง (สปป.ลาว) ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เพิ่มขึ้น

เบื้องต้นขอเพิ่มการเดินขบวนรถ 3 ขบวน/3เที่ยวต่อวัน (พ่วง 26 แคร่ต่อขบวน) จากเดิม 2 ขบวนต่อวัน (พ่วง 12 แคร่ต่อขบวน) ซึ่งมีน้ำหนักกดลงเพลาไม่เกิน 15 ตันต่อเพลา การเพิ่มจำนวนแคร่ทำให้น้ำหนักบรรทุกบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เปิดใช้งานมานานตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันรวม 27 ปีแล้ว  ทล. เป็นห่วงว่าถ้าเพิ่มจำนวนแคร่ขนสินค้า 26 แคร่ จะเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ต้องพิจารณาถึงความสามารถในการรับน้ำหนักของโครงสร้างสะพาน เบื้องต้นได้คำนวณออกมาแล้วพบว่าสะพานยังรับน้ำหนักได้

แต่ขอตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของสะพาน รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ช่วยตรวจสอบวัดค่าต่างๆ เกี่ยวกับความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานก่อน เพื่อความรอบคอบและปลอดภัยในการใช้งาน แม้ว่าที่ผ่านมา ทล. ได้บำรุงรักษาสะพานมาโดยตลอดก็ตาม ทั้งการซ่อมแซม ปรับปรุงโครงสร้าง ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพสะพาน ผิวสะพาน เส้นจราจร และระบบไฟฟ้าส่องสว่างเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้สะพานและให้มีความพร้อมใช้งานตลอดเวลา

ส่วนกรณีขอเพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งต่อวันนั้น จากข้อมูลเบื้องต้นเดือนนี้ รฟท. จะเพิ่มเป็น 3 ขบวน/3เที่ยววิ่งต่อวัน และถ้าปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค.64 จะเพิ่มเป็น 10 ขบวน/10 เที่ยววิ่งต่อวัน ปัจจุบันรัฐบาลไทย และ รัฐบาล สปป.ลาว ทำข้อตกลงร่วมกันกำหนดช่วงเวลาเดินรถไว้อยู่แล้ว เดิมที รฟท. ใช้เส้นทางขนส่งผู้โดยสารช่วงเวลา 07.30 น. และ เวลา 14.45 น. ต่อมาในปี 60 รฟท. ขอปรับเพิ่มเวลาใช้ขบวนรถไฟในการขนส่งสินค้าเพิ่มหรือเรียกว่าขบวนรวม คือจะบรรทุกทั้งผู้โดยสารและสินค้าในขบวนเดียวกัน เดินรถช่วงเวลา 06.00-08.00 น. และ เวลา 20.00-21.00 น. ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ

ดังนั้น ทล. ขอให้ รฟท. ไปวางแผนเดินขบวนรถร่วมกับ สปป.ลาว ให้เรียบร้อยก่อน แล้วนำเสนอแผนปรับเพิ่มช่วงเวลาในการขนส่งสินค้าให้ ทล. พิจารณา เพื่อจะได้บริหารจัดการใช้สะพานให้สอดคล้องกับรถประเภทอื่นๆ ต่อไป เนื่องจากสะพานจะเปิด-ปิด เวลา 06.00-22.00 น. ขณะเดียวกันการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟบนสะพานในแต่ละเที่ยว ตั้งแต่รถไฟขึ้นจากคอสะพานฝั่งไทยจนท้ายขบวนจะพ้นสะพานและถึงต้นสะพานฝั่ง สปป.ลาว ใช้เวลา 15 นาที ทั้งนี้ ทล. ยินดีให้ความร่วมมือกับ รฟท. อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าของประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ และนำรายได้มาสู่ประเทศต่อไป