เมื่อวันที่ 13 ก.ค. จากกรณีรัฐบาลจะนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 16–31 ก.ค.นี้นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยระบุว่า จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน รวมทั้งที่ได้เคยตรวจสอบกรณีดังกล่าว กสม. มีข้อเสนอเพื่อพิจารณา คือ 1. คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้มีข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งในปัจจุบัน ยังปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหากรณีดังกล่าว อาทิ การโต้แย้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในพื้นที่ดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย
2. แม้ภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการจัดสรรพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยที่ถูกย้ายออกจากพื้นที่ดั้งเดิมแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยยังประสบปัญหาในการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ได้รับการจัดสรรอย่างจำกัด ไม่ครบถ้วน และสภาพดินไม่สามารถทำกินได้อย่างเพียงพอ ต่อมา เมื่อประมาณต้นปี 2564 กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบางส่วนได้กลับเข้าไปทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิม ทำให้ถูกจับกุมและเกิดข้อขัดแย้ง กระทั่งได้มีการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 67/2564 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2564 และมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ด้านขึ้นมา เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผลการดำเนินการและข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งถูกจับกุมกำลังถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย และ 3. กสม. ขอเสนอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติออกไปก่อน จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เมื่อปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมแล้ว กสม. พร้อมที่จะสนับสนุนการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติต่อไป
“กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยมีลักษณะเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของตน รวมทั้งมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และหนังสือสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามได้ให้การรับรองไว้” ประธาน กสม. กล่าว.