การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจ พัฒนาทักษะอาชีพ และการสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมโดยเน้นกระบวนการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ เป็นแนวคิดสำคัญที่ กลุ่ม ปตท. ได้ยึดถือและยึดมั่นมาตลอด โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน โดยล่าสุดได้มีการร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง มูลนิธิโครงการหลวง กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) ในโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการสานต่อการดำเนินงานพัฒนาการปลูกกาแฟอะราบิกา โดยได้นำผลความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง กับกลุ่ม ปตท. ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ณ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และขยายผลไปสู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เพื่อพัฒนาระบบการปลูกกาแฟให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมพัฒนาศักยภาพให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ไปพร้อมกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับแหล่งต้นน้ำของประเทศไทย

สำหรับรายละเอียดเรื่องนี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า การพัฒนา “โครงการหลวงเลอตอ” นั้น กลุ่ม ปตท. ได้กำหนดแนวทางไว้ 2 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจ พัฒนาทักษะอาชีพ และการสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่กับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่ง ปตท. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เพื่อสร้างการเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ 2.ด้านสิ่งแวดล้อม  โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. มีแผนในการฟื้นฟูป่า จำนวน 200 ไร่ ควบคู่กับการสร้างรายได้ร่วมกับชุมชน ด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากวิถีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกไม้ป่า ที่เป็นไม้พื้นถิ่นควบคู่ไปกับการปลูกไม้ผลเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ อาทิ อะโวคาโด พลับ มะคาเดเมีย และไม้พื้นล่าง โดยได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยของสถาบันฯ มาปรับใช้ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ไปพร้อมกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยจะเริ่มต้นใช้โมเดลดังกล่าวในบริเวณพื้นที่สำนักงานโครงการหลวงเลอตอ จำนวน 30 ไร่ เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธิตสำหรับการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนโดยรอบต่อไป

“กลุ่ม ปตท. ต้องการสนับสนุนให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องของการฟื้นฟูพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่า เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สำคัญเกี่ยวกับการสร้างความยั่งยืนด้านรายได้ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศอย่างสมดุลยั่งยืน” นายอรรถพล กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของเรื่องนี้

ด้านโออาร์ เสริมว่า ความร่วมมือกับทางมูลนิธิโครงการหลวงในการพัฒนาความรู้เกษตรกรชาวเขาควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมจากการผลิตกาแฟให้มีประสิทธิภาพนั้น กลุ่ม ปตท. และโออาร์ได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้มีการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากโครงการหลวงไปแล้วกว่า 2.5 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) ซึ่งช่วยสนับสนุนเกษตรกรชาวเขากว่า 800 ราย ในพื้นที่โครงการหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ให้มีรายได้และอาชีพที่มั่นคง อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวเขาและชุมชนผู้ปลูกกาแฟ สามารถผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการบริหารและจัดการของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกาแฟ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน

การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการสานต่อการดำเนินงานและผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และกลุ่ม ปตท. ในการร่วมพัฒนาระบบการปลูกกาแฟให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อที่จะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับแหล่งต้นน้ำของประเทศไทย เพื่อเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์มุ่งมั่นของกลุ่ม ปตท. ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการที่จะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชนต่างๆ ไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศไทย