นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.กำลังหาทางช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน โดยเตรียมปรับปรุงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เกี่ยวกับกรณีการขายทอดตลาดที่ไม่เป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้ในสัญญาเช่าซื้อทุกประเภท โดยเฉพาะการเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งล่าสุดคณะอนุกรรมการกำลังไปศึกษาแนวทางการช่วยเหลือ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจะเสนอให้ทางคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาพิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป  

“ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานไปหาทางแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนเร่งด่วนในช่วงนี้ โดยในส่วนของ สคบ. เองพบว่ามีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องหนี้จากสัญญาเช่าซื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่คือเจอการขายทอดตลาดที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องแก้ไขกันตั้งแต่ต้นทาง เพราะปัจจุบันเมื่อผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้ขาดผ่อนส่งค่างวดจะเจอฟ้องคดีและก็ไม่ได้ไปศาล จนทำให้เกิดปัญหาเวลาเกิดการขายทอดตลาด ซึ่งเศรษฐกิจอย่างนี้เวลาขายทอดตลาดจะได้ราคาต่ำ ขายไปแล้วจะได้ราคาไม่ถึงตามคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ต้องไปยึดทรัพย์อย่างอื่นอีก ซึ่งปัญหาทั้งหมด สคบ. จะหาทางช่วยเหลือให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด และจะให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ด้วย” 

ทั้งนี้ในแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้สัญญาเช่าซื้อด้านอื่น ๆ สคบ. ยังได้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือแก้ปัญหาด้วย เช่น กรณีของการคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อนั้น ที่ผ่านมาไม่ได้มีการกำหนดอัตราไว้อย่างชัดเจน ล่าสุดได้ขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยพิจารณาข้อกำหนดมารองรับให้ครอบคลุมถึงส่วนนี้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในกรณีที่ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยเกินจริง

เช่นเดียวกับเรื่องของการติดตามทวงถามหนี้ ที่ผ่านมาสคบ.ได้หารือเบื้องต้นกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีกฎหมายดูแลเป็นการเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยสคบ.จะประสานแนวทางการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เพิ่มเติม เช่น การติดตามทวงถามหนี้จะผ่อนปรนได้อย่างไรบ้าง การติดตามทวงถามรายวันทำอย่างไร มีวิธีการอย่างไรบ้าง และสามารถปรับลดลงได้อย่างไร เพื่อจะได้ช่วยให้ผู้บริโภคที่เป็นหนี้ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง 

นอกจากนี้ในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้นั้น ที่ผ่านมา สคบ. เคยเชิญผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่มีสัญญาเช่าซื้อกับผู้บริโภคมาหารือ ถึงแนวทางการผ่อนปรนในช่วงวิกฤตโควิดครั้งนี้จะช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง เช่น การลดค่าธรรมเนียม การพักชำระหนี้ หรือการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป ซึ่งทางผู้ประกอบธุรกิจรับว่าจะไปหาทางพิจารณาอีกครั้ง แต่จะทำตามความเหมาะสม เช่น ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระมาเกินครึ่งแล้ว ต้องการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระเพื่อทำให้ค่างวดถูกลงก็สามารถทำได้ แต่ผู้ที่เพิ่งเริ่มผ่อนจะขอยืดค่างวดออกไปคงทำได้ยาก และอาจต้องช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป