สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองกลาสโกว์ ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ว่ามากกว่า 100 ประเทศ แสดงเจตนารมณ์ร่วมมือกับสหรัฐและสหภาพยุโรป ( อียู ) ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( ยูเอ็นเอฟซีซีซี ) ครั้งที่ 26 หรือ “คอป 26” ที่เมืองกลาสโกว์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่สองของการหารือ ให้คำมั่นลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% เมื่อเทียบกับระดับของปี 2563 ให้ได้ภายในปี 2573


ทั้งนี้ ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากเป็นอันดับสอง รองจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แม้ก๊าซมีเทนมีคุณสมบัติเก็บกักความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่สามารถสลายตัวในชั้นบรรยากาศได้รวดเร็วกว่า ผู้เชี่ยวชาญจึงวิเคราะห์ว่า การลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนให้ได้มากที่สุด จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้เร็วที่สุด


สำหรับหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ คือ บราซิล หนึ่งในประเทศผู้ปล่อยก๊าซมีเทนสูงเป็นอันดับต้นของโลก นอกจากนั้นยังมี สหรัฐ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน และเม็กซิโก ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มประเทศปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุดของโลกทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม จีน อินเดีย และรัสเซีย ไม่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงฉบับนี้.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES