เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าตนขอแสดงคามเสียใจกับน้องพยาบาล ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ก.ค. หลังติดเชื้อโควิด จากการติดเชื้อในรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ตนขอแสดงความเสียใจมายังญาติพี่น้องของพยาบาลท่านนี้ด้วย ถือว่าเป็นความเสียสละของพยาบาลที่ปฏิบัตงานด้วยความทุ่มเท อยู่ในการดูแลของทีมแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา
“จากการตรวจสอบข้อมูลพบฉีดวัคซีนเดือน เม.ย.เข็มแรก ฉีดเข็ม 2 ต้นเดือนพ.ค. แต่ด้วยการปฏิบัติงานในแผนกผู้ติดป่วยโควิด 19 ต่อเนื่องในเดือน มิ.ย. จึงมีโอกาสได้รับเชื้อจากการปฏิบัติงาน บวกกับมีประวัติเสี่ยงคือภาวะอ้วน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้อาการรุนแรง” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่การระบาดรอบเม.ย.- 10 ก.ค. บุคลากรการแพทย์ติดเชื้อโควิดทั้งสิ้น 880 ราย ส่วนใหญ่เป็นหญิง โดย 54% เป็นพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาล ส่วนแพทย์ /ทันตแพทย์ ติดเชื้อ 7% แม่บ้าน/ หน่วยจ่ายกลาง 6% เจ้าหน้าที่รังสี/เภสัชกร 4% เวลเปล / รปภ.1% และอื่นๆ 28% ส่วนใหญ่อายุ 20-29 ปี ถัดมาคือ 30-39 ปี เป็นหลัก ทั้งนี้มากกว่า 97% ฉีดวัคซีนแล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ตามฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำแนกเป็นกลุ่มบุคลากรการแพทย์ที่รายงานเข้ามา 880 รายนั้น พบว่าไม่มีประวัติว่ารับวัคซีน 173 ราย หรือ 19.7% มีผู้เสียชีวิต 7 ราย โดยในจำนวนคนที่เสียชีวิตนั้นพบว่าไม่ได้รับวัคซีน 5 ราย ได้รับวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม 1 ราย โดยเพิ่งได้รับเข็ม 2 เพียง 1 วันก็เริ่มป่วย แต่อย่างอธิบายคือปกติภูมิฯ จะขึ้นหลังฉีดเข็ม 2 แล้ว ประมาณ 14 วัน ส่วนอีก 1 ราย ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส 1 ราย คือน้องพยาบาลที่เป็นข่าวในวันนี้
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแล้วอัตราการติดเชื้อฯ ในคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้วโอกาสติดเชื้อ และป่วยเสียชีวิตเสียชีวิตน้อยกว่า คนไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งจากตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคหากฉีด 1 เข็ม พบป่วย 68 คน หรือคิดเป็นอัตราป่วย 300ราย ต่อ 1 แสนประชาการ คนฉีดครบ 2 เข็ม ป่วย 618 ราย อัตราการป่วย 91 ราย ต่อ 1 แสนประชากรที่ฉีดวัคซีน ทั้ง 2 กรณี ส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ส่วนที่มีอาการปานกลาง 19 ราย ที่ได้รับครบ 2 เข็ม
“บุคลากรการแพทย์ เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับครบโดสในเดือน เม.ย. มีส่วนน้อยที่ได้รับหลังจากนั้น ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดของโควิด 1- ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. จะอยู่ในกลุ่มที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว และมี 1 รายที่เสียชีวิต มีอาการรุนแรง 1 ราย ส่วนคนที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ ส่วนใหญ่ได้รับ 1 เข็ม มีอาการป่วยน้อยเป็นส่วนใหญ่ 43 ราย ป่วยปานกลาง 1 ราย อาการรุนแรง 2 ราย โดย 1 รายใช้ท่อช่วยหายใจ อีก 1 ราย ใช้ออกซิเจนไฮโฟล แต่ยังไม่มีรายงานเสียชีวิต” นพ.โสภณ กล่าว
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเพื่อสื่อสารกับประชาชนช่วงนี้เพื่อให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน ก็ต้องขอยืนยันว่าคนที่ฉีดวัคซีน มีโอกาสป่วยรุนแรงน้อยกว่าคนไม่ฉีด แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในช่วงเดือน มิ.ย.ต่อมาถึงเดือนก.ค. จากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) มาเป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ดังนั้นในคนที่ฉีดวัคซีนซินแวค 2 เข็มแล้วอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าเชื้อเดิมคณะคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อ 2558 จึงเสนอให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นวัคซีนต่างชนิด คือแอสตร้าแอสตร้าเซนเนกา และวัคซีนไฟเซอร์ จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 12 ก.ค. นี้ เชื่อว่าจะเห็นชอบและสามารถฉีดวัคซีนของแอสตร้าฯ ได้ในวันที่ 12 ก.ค. เลย ส่วนคนที่ต้องการฉีด mRNA ยังต้องรอ เพราะไฟเซอร์ล็อตบริจาค 1.5 ล้าน จะเข้ามาในปลายเดือนก.ค..