เมื่อวันที่ 11 ก.ค. สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “การต่อสู้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,114 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6 – 10 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่าเมื่อถามถึงความเห็นต่อขีดความสามารถของกระทรวงสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.9 ระบุว่า สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 วันนี้เกินขีดความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่ร้อยละ 8.1 ระบุว่า ไม่เกินขีดความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข และเมื่อถามถึงความเห็นของประชาชนต่อรัฐบาล พบว่าร้อยละ 94.8 ระบุว่า รัฐบาลต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคปิดพื้นที่ ร้อยละ 94.1 ระบุว่า รัฐบาลต้องเข้มแข็งเด็ดขาดด้านนโยบาย คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ร้อยละ 93.8 ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องสื่อสารนโยบายและมาตรการให้ชัดเจนต่อเนื่อง ร้อยละ 93.7 ระบุว่า รัฐบาลต้องบริหารจัดการวัคซีนให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ร้อยละ 92.3 ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดควบคุมโรค และร้อยละ 91.1 ระบุว่า เห็นด้วยต่อมาตรการปิดเป็นพื้นที่และกำหนดมาตรการเฉพาะคุมเข้มกิจกรรมเสี่ยง
เมื่อถามถึงความเห็นของประชาชนต่อ หน่วยงานรัฐ พบว่า ร้อยละ 94.8 ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในการดูแลตัวเองในฐานะผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน ร้อยละ 94.1 ระบุว่า ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครต้องลงตอบสนองวิกฤติสถานการณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ ร้อยละ 94.1 ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องสื่อสารให้ชัดเจนถึงการบริหารจัดการวัคซีน ร้อยละ 93.9 ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมสนับสนุนมาตรการควบคุมโรค และร้อยละ 93.6 ระบุว่า ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ทั้งระดับนโยบายและพื้นที่ต้องกำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ตอบโจทย์ตรงเป้าใจของประชาชน เมื่อถามถึงความเห็นของประชาชนต่อ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ พบว่า ร้อยละ 93.8 ระบุว่า ภาคเอกชน นายทุน ต้องเสียสละและมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคมมากขึ้น ร้อยละ 91.6 ระบุว่า ต้องการให้ภาคเอกชน นายทุน สนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
สุดท้ายเมื่อถามถึงความเห็นของประชาชนต่อ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป พบว่า ร้อยละ 94.4 ระบุว่า ขอให้สื่อมวลชนอยู่ในจรรยาบรรณวิชาชีพ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริงครบถ้วน ร้อยละ 94.2 ระบุว่า ขอประชาชนต้องร่วมมือกันหยุดเชื้อ ปฏิบัติตามมาตรการคุมเข้ม เช่น ไม่เคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดหากไม่จำเป็น ทำงานที่บ้าน ยกการ์ดสูงป้องกันตนเอง ร้อยละ 94.0 ระบุว่า ขอประชาชนหยุดการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จบิดเบือนสร้างความโกรธเกลียดต่อกัน ร้อยละ 93.6 ระบุว่า ขอสื่อมวลชนช่วยรณรงค์ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน ลดความตื่นตระหนกของสังคม ร้อยละ 93.6 ระบุว่า ขอสื่อมวลชนร่วมให้กำลังใจประชาชนผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน.