ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม นายชัยยันต์ เจียมศิริ ประธานคณะทำงานการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรเป็นประธานประชุมคณะทำงาน หารือเรื่องการจัดทำรายงานผลการศึกษา หัวข้อที่ 3 การประกันความเสี่ยงของผลผลิตทางเกษตรกรรม กรณีศึกษาการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรคือมะพร้าว ลิ้นจี่ ส้มโอ ตามที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติกำหนดตัวชี้วัดการทำงานของสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2568 และให้จัดทำรายงานการศึกษาตามหัวข้อที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติกำหนด

โดยนางณริภา ระย้าแก้ว หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงครามเลขานุการคณะทำงาน ยกร่างเนื่องจากมีเวลาจำกัดและจะจัดทำส้มโอในโอกาสต่อไป โดยมีองค์ประกอบคือ 1.ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา 2.วิธีการศึกษา 3.การศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 4.การวิเคราะห์ข้อมูล 5.ผลการศึกษา 6.ข้อเสนอ และ 7.เอกสารอ้างอิง

ซึ่งคณะทำงานและฝ่ายเลขาจะเก็บข้อมูลจากเกษตรกร ส่วนวิธีการทำประกัน ควรหารือความเป็นไปได้กับบริษัทประกันภัยที่อาจจะมีชั้นกรรมธรรม์ประกันภัยให้เกษตรกรเลือก ส่วนเงินประกันนอกจากรัฐสนับสนุนแล้วควรให้เกษตรกรมีส่วนร่วมด้วย เนื่องจากผลผลิตเศรษฐกิจหลักของ จ.สมุทรสงครามยังไม่มีกองทุนพืช อย่างไรก็ตามที่ประชุมให้เปลี่ยนชื่อเป็น “รายงานผลการศึกษาประเด็นการประกันความเสี่ยงของผลผลิตทางการเกษตร กรณีศึกษาการประกันพืชเศรษฐกิจ จ.สมุทรสงคราม” ส่วนการออกแบบสอบถามความต้องการของเกษตรกรเบื้องต้นกำหนดคือ 1.ความเสียหายจากแมลงศัตรูพืชระบาด 2.ภัยธรรมชาติ (น้ำท่วม ภัยแล้ง น้ำเค็ม พายุ ฟ้าผ่า) 3.ผลกระทบจากการบริหารงานของภาครัฐ เช่น การทำประตูระบายน้ำ ส่วนมะพร้าวให้เพิ่มประเด็นอัตราการรอดของมะพร้าวปลูกใหม่ โดยมีค่าชดเชยขึ้นอยู่กับอายุต้น ส่วนลิ้นจี่ให้เพิ่มประเด็นไม่ติดผล โดยจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลเร็วๆนี้ เพื่อส่งให้สภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินการ พร้อมคัดเลือกบริษัทประกันภัยที่เหมาะสมต่อไป

จ.สมุทรสงครามมีพื้นที่ 260,442 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 177,655 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 68.21 พืชเศรษฐกิจสำคัญเช่นมะพร้าว ลิ้นจี่ ส้มโอ และนาเกลือ เป็นจังหวัดที่มีสภาพเหมาะสมปลูกมะพร้าว เนื่องจากติดชายทะเลจึงมีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม สามารถปลูกมะพร้าวและพืชผักผลไม้นานาชนิดและตั้งแต่ปี 2553 จ.สมุทรสงครามมีสภาพอากาศแห้งแล้ง มะพร้าวได้รับผลกระทบจากน้ำฝนที่ลดน้อยลงในบางปี กอร์ปกับน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้น้ำเค็มรุกพื้นที่

สำหรับมะพร้าวมีศัตรู เช่นแมลงดำหนาม หนอนหัวดำทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน และนอกจากปัญหาภัยแล้ง น้ำเค็ม และแมลงศัตรูพืชแล้ว มะพร้าวยังได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวประเทศเพื่อนบ้านมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว เกษตรกรจึงได้รับผลกระทบด้านราคาผลผลิตเพราะมะพร้าวที่นำเข้าทั้งที่ถูกต้อง และบางส่วนลักลอบนำเข้ามาจากหลายช่องทางราคาถูกกว่ามะพร้าวในประเทศไทย

ส่วนลิ้นจี่พันธุ์ค่อมที่เคยปลูกกว่าหมื่นไร่ปัจจุบัน จ.สมุทรสงครามเหลือเพียง 5,117 ไร่ ปัจจัยสำคัญ คือสภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงช่วงฤดูหนาว เนื่องจากลิ้นจี่ชอบอากาศเย็นต่ำกว่า 20 องศาฯ ติดต่อกันอย่างน้อย 10 วัน จึงทำให้ลิ้นจี่ให้ผลผลิตน้อยมากบ้างน้อยบ้างและบางปีไม่ให้ผลผลิตเลยก็มี ส่วนส้มโอจะมีการจัดทำรายงานผลการศึกษาต่อไป