นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ให้สัมภาษณ์”ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า   ได้ติดตาม และเร่งรัดโครงการสำคัญต่างๆ ของ รฟท.ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่า รฟท. เมื่อวันที่ 19 ก.ย.67 โดยพบว่า ยังมีบางโครงการที่ติดปัญหาบางประเด็น ทำให้งานยังไม่สามารถเดินต่อได้ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งยังเหลืออีก 2 สัญญาจาก 14 สัญญา ที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. รอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เนื่องจากมีโครงสร้างทับซ้อนกัน

 และ 2.สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. รฟท. เตรียมนำเสนอขอบเขตกิจกรรมการลงพื้นที่ เพื่อให้คำปรึกษารายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม(HIA) โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน สถานีอยุธยา ของผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก กรณีการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน สถานีอยุธยา ต่อกรมศิลปากร และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ตามความคิดเห็นของกรมศิลปากร และ สผ. เพื่อพิจารณา และประสานศูนย์มรดกโลกต่อไป ทั้งนี้คาดว่าภายในเดือน พ.ย.67 จะกำหนดวันลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญฯ ที่ชัดเจนได้อีกครั้ง

 “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”  รายงานด้วยว่า เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก จะเดินทางมายังประเทศไทย และลงพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นเวลา 5 วัน เพื่อพิจารณารายงาน HIA  ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา

พร้อมทั้งให้คำแนะนำ และมุมมองทางเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการรักษาคุณค่าของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ (ห่างกันประมาณ1.5กม.) ทั้งนี้รฟท.ได้ปรับแผนใหม่หลังผู้เชี่ยวชาญฯได้เลื่อนกำหนดการลงพื้นที่ในครั้งแรก และกำหนดแผนงานการลงพื้นที่ใหม่ อย่างไรก็ตามคาดว่าประเด็นรายงาน HIA จะจบสิ้นภายในปี 67

ส่วนการลงนามสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระหว่าง รฟท. กับบริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด ผู้รับจ้างก่อสร้างทางวิ่งและสถานีอยุธยานั้น  ก่อนหน้านี้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม สั่งการให้ รฟท. ลงนามสัญญาจ้างกับผู้รับจ้างภายในเดือน ต.ค.67 แต่เนื่องจากกระทรวงคมนาคมปรับแผนงานการกำกับดูแลงานหน่วยงานต่างๆ ภายในสังกัดกระทรวงคมนาคมใหม่ โดยหน่วยงาน รฟท. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เป็นผู้กำกับดูแลเองจากเดินนายสุรพงษ์ เป็นผู้กำกับดูแล รฟท. จึงต้องรายงานการลงนามสัญญาให้นายสุริยะรับทราบก่อน ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเร็วๆ นี้ โดยบริษัท บุญชัยพาณิชย์ฯ ยังยืนราคาเดิมที่ 10,325 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 14 สัญญา ระยะทาง 357 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย เริ่มก่อสร้างปี 60 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 25 ต.ค.67 ได้ผลงาน 36.94% ล่าช้า 37.83% ก่อสร้างเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอลงนาม2 สัญญา ทั้งนี้ในส่วนของสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633 ล้านบาท ผลงาน 0.95% ล่าช้ามากที่สุดถึง 56.91% รฟท. ยังคงเป้าหมายล่าสุดที่ปรับแผนเปิดบริการเฟสที่ 1 ในปี 71.