เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีที่นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ออกมาระบุว่า การจัดทำประชามติไม่ทันการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเดือน ก.พ. ปี 68 ว่า การดำเนินการการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลและพรรครวมรัฐบาลทุกพรรคเห็นตรงกันว่าควรเร่งดำเนินการ ซึ่งนายนิกร ได้เข้าร่วมการประชุมโดยตลอด ทำให้เห็นชัดเจนว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 68 จะไม่ทันพร้อมกับการทำประชามติ ส่งผลให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 70 อาจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทัน
นายวราวุธ กล่าวว่า การทำงานเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หัวใจสำคัญคือการเร่งจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และอายุของ ส.ส.ร. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาระสภาชุดนี้ ซึ่งจะหมดในวันที่ 13 พ.ค. 70 ขณะที่การตั้ง ส.ส.ร. ก็เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่ได้ประกาศใช้สมัยรัฐบาลของนายบรรหาร แต่ก็ยังได้รับเครดิตการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ขออย่าเพิ่งหมดหวัง รัฐบาลจะเร่งทำงานเต็มที่เพื่อให้เกิด ส.ส.ร. และจะมีกลไกรับฟังความคิดเห็นในทุกพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งใหม่นั้น ขออย่ากังวล ว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรายังมีสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยมีการแก้เกมตัดตอนในเรื่องของการทำประชามติ ให้เหลือแค่ 2 ครั้งนั้น นายวรวุธ กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวทางมาก็ค่อนข้างชัดเจน การแก้ไขในมาตรา 256 จำเป็นต้องมีการทำประชามติ และเมื่อมี ส.ส.ร. แล้ว จะต้องมีการทำประชามติครั้งหนึ่ง ส่วนจะ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ขอให้ช้าๆ ได้พร้าเล่มงามจะดีกว่า เพราะหากมีการลัดขั้นตอนไป แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา 2-3 ปีที่ผ่านมา จะกลับไปที่ศูนย์ แต่หากเพิ่มเวลาอีกนิด และทำประชามติตามขั้นตอน สุดท้ายจะคุ้มค่า ที่เราได้ดำเนินการไป พร้อมย้ำว่า เครดิตของการได้มาได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญต้องประกาศใช้ในรัฐบาลนี้ แต่การให้เกิด ส.ส.ร. คือหัวใจสำคัญ
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า กลไกการเลือกตั้งอยู่ภายใต้กฎหมายการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่สามารถแก้กฎหมายเลือกตั้งได้ ยกเว้นเรื่องบัตรหนึ่งใบหรือสองใบ ซึ่งเป็นกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ