จากกรณีที่บริษัทรับเหมาเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับเทศบาลนครตรัง ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต สายขนานทางรถไฟ (ใต้) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าถนนสายทางรถไฟวังตอ ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง มีเทศบาลนครตรังเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งได้มีการลาดยางมะตอย แต่ไม่ได้มีการปิดถนนทางสัญจร ไม่มีป้ายแจ้งห้ามใช้เส้นทาง หรือป้ายสัญญาณเตือนใดๆ ทำให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ทราบว่ามีการลาดยางมะตอย จึงได้ขับรถเข้าเส้นทางดังกล่าว จนทำให้ยางมะตอยที่ลาดอยู่บนพื้นถนนติดล้อ ทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และยังทำให้ยางมะตอยที่ติดล้อยางได้กระเด็นขึ้นมาติดใต้ท้องรถ ใต้ซุ้มล้อ และพื้นผิวสีตัวรถ จนทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียหายกว่า 200 คัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ผู้รับเหมา-เทศบาลสุดชุ่ย! ทำถนนลาดยางมะตอย ไร้ป้ายเตือน รถเสียหายนับร้อย
ล่าสุด เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 67 ทางบริษัทฯ ได้มีการนัดผู้เสียหายซึ่งเป็นกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็ก ขนาด 1,200 ซีซี มารับเงินเยียวยาในส่วนของค่าเสียหาย ก่อนจะมีการแจ้งว่าจะจ่ายให้รายละ 800 บาท จนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้เสียหาย เนื่องจากส่วนใหญ่รถที่โดนยางมะตอย ต้องจ่ายค่าบริการให้กับร้านคาร์แคร์ในการนำยางมะตอยออกคันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท บางรายสูงถึง 3,000 บาท ทำให้ผู้เสียหายต่างๆ แสดงท่าทีไม่พอใจเป็นอย่างมาก กับทางบริษัทฯ ในการแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งใช้กฎเกณฑ์อะไรอย่างไรในการมาตัดสินและเหมารวมในจำนวนเงินเพียง 800 บาทเท่านั้น ซึ่งทางตัวแทนบริษัทฯกลับไม่มีคำตอบใดๆ ให้ เพื่อแค่ตอบว่าทางบริษัทฯ ให้มาดำเนินการเพียงเท่านี้ แต่ก็ยังมีผู้เสียหายประมาณ 13 ราย ยินยอมในการรับค่าเยียวในจำนวนเงิน 800 บาท เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่อยากจะเสียเวลาในการประกอบอาชีพ และค่าเดินทาง อีกทั้งบางส่วนต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด และในบางส่วนยังยืนยันที่จะไม่รับเงินในจำนวน 800 บาทนี้
นางสุมาลี ทองสุด อายุ 64 ปี ข้าราชการบำนาญ หนึ่งในผู้เสียหายชาว อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ตนนำรถเก๋งไปขจัดยางมะตอยออกจำนวน 2,500 บาท โดยมีใบเสร็จและภาพถ่ายยืนยันเป็นพยานหลักฐานทุกอย่าง หลังจากยื่นเรื่อง ทางกองช่างบอกว่าให้รอทางบริษัทฯ โทรมาหาเพื่อจะนัดมารับเงินเยียวยา แต่ปรากฏว่าทางบริษัทไม่เคยโทรหา และโทรไปก็ไม่มีใครรับสาย กระทั่งได้พูดคุยกันในกลุ่มและเดินทางเข้ามาในวันนี้ แต่ทางบริษัทฯ กลับแจ้งมาว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้จำนวน 800 บาท ทั้งๆ ที่ของตนต้องจ่ายไปจำนวน 2,500 บาท ซึ่งตนก็รับไม่ได้ อีกทั้งรถยนต์ก็ไม่ได้อยู่ในสภาพปกติเช่นเดิมเพราะผิวล้อยางรถคุณภาพไม่เหมือนเดิม แต่ตนก็ไม่ได้ติดใจในส่วนอื่น ต้องการแค่ค่าเยียวยาในส่วนการล้างรถขจัดยางมะตอยเท่านั้น
“ทางตัวแทนบริษัทฯ ที่มาในวันนี้ก็เพียงแค่ได้รับมอบหมายมาเท่านั้น ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ให้คำตอบอะไรไม่ได้ ซึ่งตนก็รับไม่ได้จึงไม่ยินยอมที่จะรับเงินจำนวน 800 บาท ซึ่งทางบริษัทฯแจ้งว่าให้เดินทางมาใหม่ในวันจันทร์ ที่ 11 พ.ย. 67 จนถึงขณะนี้ตนเดินทางมาวิ่งเรื่องค่าเสียหายจาก อ.กันตัง มาเทศบาลนครตรัง กว่า 3 รอบแล้ว ระยะทางแต่ละครั้ง 20 กว่ากิโลเมตร ค่าน้ำมันแต่ละครั้งก็ประมาณ 300 บาท ก็ไม่รู้ว่าครั้งหน้าจะได้รับผลที่พอใจหรือไม่ แต่ในส่วนอื่นๆ ตนไม่ขอคิด ขอความเป็นธรรม แค่เพียงค่าขจัดยางมะตอยตามความเป็นจริงเท่านั้น” นางสุมาลี กล่าว
นางกิตติยา คงแก้ว อายุ 38 ปี อาชีพข้าราชการครู ชาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ครั้งแรกเดินทางที่ สภ.เมืองตรัง เพื่อมาแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ครั้งที่ 2 เดินทางมาที่เทศบาลนครตรัง เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน ครั้งนี้ก็มาอีกรอบเพื่อมารับเงินเยียวยาช่วยเหลือ ซึ่งตนเดินทางมาจาก อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ก็ต้องลางานมา ครั้งนี้ใจหนึ่งก็ไม่อยากจะรับ แต่ถ้าไม่รับก็ต้องเสียเวลาอีกหลายครั้ง ก็คิดแล้วว่าค่าน้ำมันรถต่างๆ ในการเดินทางก็คงจะเยอะพอสมควร ก็เลยจบลงตรงนี้ ความเสียหายของตนหลังจากรถโดนยางมะตอย ก็ได้นำไปล้างกับคาร์แคร์ จ่ายเงินไปจำนวน 1,300 บาท วันนี้ทางผู้รับจ้างก็จ่ายเยียวยาให้จำนวน 800 บาท วันนี้ถามกับลูกจ้าง ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทผู้รับเหมา ก็ตอบคำถามไม่ได้ว่าใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินในการจ่ายเยียวยาความเสียหาย ก่อนหน้านี้ได้แจ้งมาว่าจะมีการโทรหาผู้เสียหาย เพื่อมารับค่าเยียวยา แต่ผลปรากฏว่าวันนี้กลับไม่มีใครโทรหา ทางผู้เสียหายต้องเดินทางมาหากันเอง เมื่อมาถึงก็ได้ทราบว่าได้เพียง 800 บาทในกลุ่มของรถยนต์เล็ก
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น วันที่ 28 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ทางเทศบาลนครตรัง ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ไดเรียกทางบริษัทผู้รับจ้างมาพูดคุยหาทางออก และก่อนหน้านี้ได้มีการจ่ายเงินให้กับผู้เสียหายที่เป็นรถจักรยานยนต์ในคันละ 400 บาท ซึ่งผู้เสียหายก็ต่างไม่พอใจเช่นเดียวกัน ส่วนเหตุการณ์ในวันนี้ทางผู้เสียหายก็ต่างร่วมกันพูดคุยในกลุ่มไลน์ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นในการที่จะดำเนินการทางปกครองและทางกฎหมายอื่นๆ ต่อไป หากทางบริษัทผู้รับจ้าง และเทศบาลนครตรัง เจ้าของโครงการไม่มีการจ่ายค่าเยียวยาให้ตามความเป็นจริงในจำนวนเงินที่ได้มีการสูญเสียไป ทั้งที่ไม่ได้เป็นการประมาทจากผู้เสียหาย.