เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแนวทางการดำเนินมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในพื้นที่ กทม. โดยมี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารเขต 22 เขตที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม


ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า  จากนโยบายมาตรการเขตมลพิษต่ำ เพื่อเป็นการลดฝุ่น PM 2.5  ของกทม. โดยให้รถบรรทุก 6 ล้อ ที่จะเข้ากรุงเทพฯชั้นใน 22 พื้นที่ ตรวจสภาพรถ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และเปลี่ยนไส้กรองอากาศ และลงทะเบียนบัญชีสีเขียว ตั้งแต่ 1 พ.ย.67 


ขณะนี้ ได้ประสาน สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยแจ้งมาตรการดังกล่าว ไปยังผู้ประกอบการได้รับทราบแล้ว และมีการตอบรับที่ดี มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก และแม้ว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ แต่อาจจะทำไม่ได้จริง และอาจจะมีปัญหาความไม่โปร่งใส และมีการทุจริตคอร์รัปชั่น   


ตนขอชี้แจงว่า  การดำเนินการมาตรการดังกล่าว เป็นการห้ามรถบรรทุกในวงใหญ่ขึ้น มีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะรถที่ปล่อยมลพิษ ซึ่งคันไหนที่ทำดีอยู่แล้ว ก็ยังสามารถวิ่งได้อยู่ โดยรูปแบบนี้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้รถบรรทุกหันมาดูแลทำความสะอาดเครื่องยนต์ ปรับปรุงคุณภาพรถยนต์ให้ดีขึ้น  ซึ่งรถที่เข้าร่วมโครงการจะได้สติกเกอร์ รถคนนี้ลดฝุ่น  หากเรามีความกังวลว่าทำไม่ได้ ก็จะเป็นโจทย์ที่ต้องมาคิดว่าทำยังไงให้มันได้ผลอย่างจริงจัง


ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปอีกว่า  ส่วนเรื่องการใช้กล้อง CCTV ตรวจจับรถบรรทุกที่ฝ่าฝืนกฎหมาย  คิดว่าทำได้แน่นอน เพราะเดือนที่ผ่านมา ได้มีการใช้กล้อง CCTV  ตรวจจับมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งบนทางเท้าได้ถึง 44,000 ราย  มีการส่งใบสั่งไปแล้วกว่าหมื่นใบ ซึ่งการใช้กล้อง CCTV เป็นสิ่งที่แม่นยำ โปร่งใส  ผ่านจอคอมพิวเตอร์โดยตรง  ไม่ต้องมีการเผชิญหน้าระหว่างคนจับและคนถูกจับ  ลดความไม่โปร่งใสที่อาจะเกิดขึ้นได้  อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจะสำเร็จหรือไม่นั้น คิดว่าไม่มีอะไรที่แย่กว่านี้จะต้องดีขึ้น แต่จะมากหรือน้อย ต้องเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ในการบังคับใช้กฎหมาย และขอความร่วมมือกัน 


ทั้งนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป ยังขอความร่วมมือใน 2 เรื่อง คือ ให้มีการดูแลเครื่องยนต์ของรถที่ใช้งานทุกคันให้สะอาด เพื่อลดการปล่อยควันรถ ที่จะกลายเป็นการสะสมของฝุ่น PM2.5  รวมถึงการเข้าร่วมเครือข่าย  Work From Home (WFH) ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายเข้าร่วมแล้ว  50,000  คน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำงานอยู่บ้าน และใช้รถสาธารณะที่ไม่ปล่อยมลพิษ


ทั้งนี้ ที่ประชุมรายงานมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในพื้นที่ กทม. โดยพิจารณาค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต หรือจากการพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดง มากกว่า 5 เขต หรือ ระดับสีส้ม มากกว่า 15 เขต หรืออัตราการระบายอากาศ (VR) ต้องน้อยกว่า 3,000 ตร.ม.ต่อวินาที หากเข้าเกณฑ์ดังกล่าว กทม.จะพิจารณาออกประกาศ เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด (ประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง) รถบรรทุกจะไม่สามารถเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกได้ เป็นระยะเวลา 3 วัน ทั้งนี้ หากค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มอย่างต่อเนื่อง พิจารณาออกประกาศห้ามรถประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมเติม


โดยบังคับใช้พื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกด้านในแนวถนน 9 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตคลองสาน เขตสาทร เขตปทุมวัน และเขตบางรัก และแนวถนนผ่าน 13 เขต (31 แขวง) ได้แก่ เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง) เขตจตุจักร (จตุจักร / ลาดยาว / จันทรเกษม / จอมพล) เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง / สามเสนนอก / บางกะปิ) เขตดินแดง (ดินแดง / รัชดาภิเษก) เขตราชเทวี (มักกะสัน) เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ) เขตคลองเตย (คลองเตย) เขตยานนาวา (ช่องนนทรี / บางโพงพาง) เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม / บางโคล่) เขตธนบุรี (ดาวคะนอง / สำเหร่ / บุคคโล / ตลาดพลู) เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ) เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์ / อรุณอมรินทร์ /บางขุนศรี / บ้านช่างหล่อ / ศิริราช) และเขตบางพลัด (บางพลัด / บางบำหรุ / บางอ้อ /บางยี่ขัน)


ทั้งนี้ หากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังไม่ดีขึ้นจะมีการยกระดับมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในพื้นที่ กทม.เพิ่มเติมโดยบังคับใช้พื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษก โดยพิจารณาค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 10 เขต หรือจากการพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดง มากกว่า 10 เขต หรือ ระดับสีส้ม มากกว่า 25 เขต 


สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป (ยกเว้นรถประเภท EV, NGV, Euro5-6) ที่ต้องวิ่งในพื้นที่เขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในพื้นที่กทม. ผู้ประกอบการสามารถนำรถบรรทุกเข้ากระบวนการบำรุงรักษา อาทิ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองอากาศ จากนั้นลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์ม “บัญชีสีเขียว” ประกอบการขอยกเว้นมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กทม. โดยแนบหลักฐานการเข้ากระบวนการบำรุงรักษา กรอกข้อมูลทาง Google Form ตาม  QR code หรือ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfiXz5vXwnIkKlpFxeSIVv9LfTgZugTdRIWZgQuJZOfOPHFNw/viewform ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 เป็นต้นไป หรือติดต่อกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2203 2951 ทั้งนี้ รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่ได้รับการยกเว้น ขอความร่วมมือลงทะเบียน “บัญชีสีเขียว” ด้วยเช่นกัน เพื่อความสะดวกต่อการกวดขันและตรวจสอบทั้งนี้ มีรายงานว่าตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green list) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.67 จนถึงวันนี้มีรถลงทะเบียนแล้วจำนวน 170 คัน.