เมื่อปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์บังคับใช้กฎหมาย “การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต” (อีพีอาร์) นับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำหนดบทลงโทษกับบริษัท ในประเด็นเกี่ยวกับขยะพลาสติก
การทด ลองดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความหวัง และอันตรายแอบ แฝงของเครื่องมือนี้ ซึ่งอาจเป็นมาตรการหนึ่งในสนธิสัญญาจัด การมลพิษจากพลาสติก ซึ่งหลายประเทศหวังที่จะบรรลุข้อตกลงได้ในปีนี้
ตามข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ฟิลิปปินส์มีประชากรราว 120 ล้านคน และสร้างขยะพลาสติกหลังการบริโภคประมาณ 1.7 ล้านเมตริกตันต่อปี ซึ่งสัดส่วน 1 ใน 3 ของปริมาณขยะข้างต้น อยู่ที่หลุมฝังกลบและสถานที่ทิ้งขยะ และขยะ 35% ถูกทิ้งบนพื้นที่เปิดโล่ง
อนึ่ง กฎหมายอีพีอาร์ มีวัตถุ ประสงค์เพื่อบรรลุ “ความเป็นกลางทางพลาสติก” โดยบังคับให้ธุรกิจขนาดใหญ่ลดมลพิษจากพลาสติก ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการกำจัดขยะออกจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะต้องครอบคลุมปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกเบื้องต้น 20% โดยคำนวณจากนํ้าหนักของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำออกสู่ตลาด และตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 80% ภายในปี 2571
นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังครอบคลุมพลาสติกหลายประเภท รวมถึงพลาสติกชนิดยืดหยุ่นที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ไม่ได้แบนการใช้พลาสติกใด ๆ รวมถึงซองพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ได้รับความนิยม แต่ฟื้นฟูและรีไซเคิลได้ยาก ซึ่งพบได้ทั่วไปในฟิลิปปินส์
จนถึงขณะนี้ บริษัทที่อยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมาย ประมาณ 50% เปิดตัวโครงการอีพีอาร์แล้ว ซึ่งบริษัทอีกมากกว่า 1,000 แห่ง ต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ มิฉะนั้น พวกเขาจะถูกปรับเงินมากถึง 20 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ (ราว 11.6 ล้านบาท) และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
ด้าน นายโจนาส เลโอเนส ปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อมฟิลิปปินส์ กล่าวว่า กฎหมายใหม่สามารถกำจัดขยะพลาสติก 486,000 ตันออกจากสิ่งแวดล้อม เมื่อปีที่แล้ว
“ตัวเลขข้างต้นสูงกว่าเป้าหมายในปี 2566 และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่กว้างขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของมลพิษจากพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงฟิลิปปินส์ ในฐานะหนึ่งในผู้สร้างขยะพลาสติกในทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก” เลโอเนส กล่าวเพิ่มเติม
ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายอีพีอาร์ ยังอนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ มอบหมายภาระผูกพันของตนเองให้ “องค์กรที่รับผิดชอบต่อการผลิต” จัดการแทน ซึ่งบริษัทหลายแห่งใช้กลไกที่เรียกว่า “เครดิตพลาสติก” ซึ่งช่วยให้บริษัทซื้อใบรับรองที่แสดงว่า พลาสติก 1 เมตริกตัน ถูกกำจัดออกจากสิ่งแวดล้อม, รีไซเคิล, อัปไซเคิล หรือ “ร่วมแปรรูป” หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเผาเพื่อผลิตพลังงาน.