สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ว่าโดยปกติแล้ว ปัจจัยสำคัญประกอบการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกัน ในการลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จะเป็นการคำนึงถึงสถานการณ์ภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นจากสื่อมวลชนหลายสำนักและศูนย์วิจัยอีกหลายแห่ง เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศที่รัฐบาลกลางเป็นผู้บริหารมากขึ้น โดยให้ความสำคัญในระดับที่สูงกว่า ประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพผิดกฎหมาย และเสรีภาพในการทำแท้ง
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าจะมาจากพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน ให้ความสำคัญกับ 3 ภูมิภาคต่อไปนี้มากที่สุด ได้แก่ อินโด-แปซิฟิก ยุโรป และตะวันออกกลาง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ทรัมป์กล่าวว่า “นานาประเทศเอารัดเอาเปรียบอเมริกา” โดยเฉพาะในด้านการค้าและความมั่นคง เนื่องจากรัฐบาลวอชิงตันชุดก่อนหน้าให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ “มากเกินไป” จนขาดความจริงจังในการแก้ไข “ความท้าทายภายในประเทศ”
ด้วยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่อยู่ในอำนาจ ทรัมป์จึงบริหารประเทศภายใต้หลักการ “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) แม้หลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงบรรดาพันธมิตรของสหรัฐ ต่างออกมาวิจารณ์และแสดงความวิตกกังวล ว่าแนวทางดังกล่าวทำให้โครงสร้างนโยบายที่ดำเนินมาตั้งแต่ดั้งเดิม “สั่นคลอนอย่างหนักในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” อาทิ ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ที่บรรลุในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต โดยสหรัฐยอมผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านหลายด้าน แลกกับการที่รัฐบาลเตหะรานไม่เดินหน้าโครงการนิวเคลียร์
อย่างไรก็ดี ทรัมป์นำสหรัฐถอนตัวฝ่ายเดียวออกจากข้อตกลงฉบับนี้ เมื่อปี 2561 แล้วกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลเตหะราน
ขณะที่โครงสร้างและการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มีอันต้องสั่นคลอนเช่นกัน จากการที่สหรัฐเป็นสมาชิกสำคัญของนาโต แต่ทรัมป์มีจุดยืนและแนวทางนโยบายที่สวนทางกันมาตลอด โดยเฉพาะการที่ทรัมป์กดดันให้สมาชิกต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายงบประมาณกลาโหมของประเทศ และถึงขั้นขู่จะนำสหรัฐถอนตัวออกจากนาโต
นอกจากนี้ ในสมัยดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ทรัมป์ “แหวกขนบธรรมเนียม” ของรัฐบาลวอชิงตันที่มีต่อเอเชีย ด้วยการถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ส่งผลให้สมาชิกที่เหลือต้องเจรจาหาทางออกร่วมกันเอง และขับเคลื่อนนโยบายที่แข็งกร้าวกับจีนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยประกาศให้อีกฝ่ายเป็น “คู่แข่งทางยุทธศาสตร์” และต่างฝ่ายต่างทำสงครามการค้าต่อกัน ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าหลายรายการ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อห่วงโซ่อุปทานโลก
ส่วนในช่วงต้นของการแพร่ระบาดใหญ่โรคโควิด-19 ทรัมป์เรียกเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “เชื้อไวรัสจีน” และออกมาตรการกีดกันการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับรัฐบาลปักกิ่ง
แม้ตลอด 4 ปีที่ทรัมป์อยู่ในอำนาจ ไม่มีสงครามหรือความขัดแย้งด้านอาวุธครั้งใหญ่เกิดขึ้นเพิ่มเติม นอกจากสงครามกลางเมืองในซีเรียที่ยืดเยื้อ แต่ทรัมป์ยังคงสั่งให้กองทัพสหรัฐเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารในอิรักและซีเรีย เพื่อทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มไอเอส และการโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มอัล-ชาบับ ในโซมาเลีย
นอกจากนั้น รัฐบาลทรัมป์เดินหน้าการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และภาคเหนือของซีเรีย แต่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนมากที่สุด คือการสังหารนายพลกัสเซ็ม สุไลมานี หนึ่งในทหารระดับสูงของอิหร่าน เมื่อปี 2563 ควบคู่ไปกับการยกระดับกดดันรัฐบาลเตหะรานทั้งในทางการทูตและเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกัน ทรัมป์ผลักดันให้อิสราเอลสามารถสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโมร็อกโก
ส่วนนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และตัวแทนพรรคเดโมแครต แม้ไม่มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ แต่ชัดเจนมาตลอด ว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน “คือการซ่อมแซมและฟื้นฟู” หลายสิ่งที่ทรัมป์ทำไว้ในระดับนานาชาติ รวมถึงการกลับมาเข้าร่วมความตกลงปารีสว่าด้วยสภาพอากาศ การกลับเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาขาติ (ยูเนสโก) และการยกเลิกถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไบเดนและแฮร์ริส สานต่อนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การยังไม่กลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน การยังคงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐไว้ที่นครเยรูซาเลม ไม่ย้ายกลับกรุงเทลอาวีฟ และการไม่ยกเลิกกำแพงภาษีที่ทรัมป์เคยตั้งไว้กับจีน
ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย. นี้ นโยบายหลักระหว่างสหรัฐกับจีนแทบจะยังคงเดิม แต่จะ “รุนแรงและตึงเครียดมากขึ้น” หากทรัมป์กลับเข้าสู่ทำเนียบขาว แต่บริบทของสงครามในยูเครน “จะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน” ถ้าผู้นำสหรัฐคนต่อไปเป็นทรัมป์ ซึ่งกล่าวมาตลอดว่า สงครามครั้งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น
ส่วนสงครามในฉนวนกาซาและสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงมากกว่า หากทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ จากการที่อดีตผู้นำสหรัฐกล่าวว่า อิสราเอล “ต้องปิดฉากภารกิจให้เร็วที่สุด”.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES