สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่า เอฟเอโอและโครงการอาหารโลกเตือนว่า ภาวะขาดแคลนอาหารเฉียบพลันมีแนวโน้มจะเลวร้ายลงใน “พื้นที่หิวโหยรุนแรง” 16 จุดของโลก ภายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งตั้งอยู่ใน 14 ประเทศและ 2 ภูมิภาค
ทั้งนี้ จุดที่อยู่ในความกังวล “ระดับสูงสุด” ได้แก่ ซูดาน, ซูดานใต้, เฮติ, มาลี และดินแดนปาเลสไตน์
จุดที่มีความ “น่ากังวลอย่างยิ่ง” ได้แก่ ชาด, เลบานอน, เมียนมา, โมซัมบิก, ไนจีเรีย, ซีเรีย และเยเมน ซึ่งผู้คนจำนวนมากกำลังเผชิญ หรือคาดว่าจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารเฉียบพลันในระดับวิกฤติ
จุดที่ยังคง “เผชิญกับความหิวโหย” จากการประเมินครั้งล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ บูร์กินาฟาโซ, เอธิโอเปีย, มาลาวี, โซมาเลีย, แซมเบีย และซิมบับเว ขณะที่ เคนยา, เลโซโท, นามิเบีย และไนเจอร์ ถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อ ด้วยสาเหตุบางส่วนจากปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ
นายอาริฟ ฮูเซน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของดับเบิลยูเอฟพี เตือนว่า ตัวการสำคัญอื่น ๆ ของความหิวโหย คือ สภาพอากาศที่เลวร้ายและเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งประเทศเหล่านี้ประสบกับปัญหาหลายประการ
มากไปกว่านั้น พื้นที่เหล่านี้ยังส่งผลกระทบในระดับภูมิภาค เช่น ความหิวโหยที่รุนแรงในฉนวนกาซา ส่งผลกระทบต่อเลบานอนและตะวันออกกลาง รวมถึงการจราจรผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซ ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น
สภาพอากาศที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การขาดแคลนอาหารในหลายภูมิภาคเลวร้ายลง โดยเฉพาะปรากฏการณ์ลานีญา ที่จะคงอยู่ต่อไปจนถึงเดือน มี.ค. 2568 ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่บางส่วนของไนจีเรีย, มาลาวี, โมซัมบิก, ซูดานใต้, แซมเบีย และซิมบับเว.
เครดิตภาพ : AFP