เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ประเทศอินเดีย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วมกับเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ ว่า ได้มอบนโยบายเรื่องการยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อทำให้นโยบายต่างประเทศเป็นนโยบายที่ประชาชนจับต้องได้ สร้างประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน สำหรับนโยบายต่อกลุ่มประเทศเอเชียใต้อยู่บนพื้นฐานความมั่นคง 3 ด้าน คือ 1. ความมั่นคงด้านอาหาร หากร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพเรื่องธัญพืช จะสามารถการันตีเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และจะผลักดันความร่วมมือด้านการทำประมง โดยตนมอบนโยบายให้ทูตไทยเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำ คือเทคโนโลยีวิจัยพัฒนา นำไปสู่ธุรกิจกลางน้ำ คือประมงจับปลา และปลายน้ำคือเครือข่ายการตลาด ซึ่งยุทธศาสตร์ของไทยจะทำให้เราเชื่อมต่อตลาด 2,000 ล้านคนในฝั่งตะวันตก และ 2,000 ล้านคน ในฝั่งตะวันออก 2.ความมั่นคงทางพลังงาน 3.ความมั่นคงของมนุษยชาติ โดยไทยได้รับคำชื่นชมจากประชาคมโลกเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกทั้งเรามีศักยภาพในการรักษาพยาบาล การพัฒนายาและวัคซีน ซึ่งถ้าเรามีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเวชภัณฑ์และยารักษาโรคกับอินเดียที่มีศักยภาพผลิตยาและวัคซีน จะช่วยพัฒนาภูมิภาคเอเชียใต้ได้อย่างสมบูรณ์ และสร้างความมั่นคงทางด้านมนุษยชาติมากขึ้น

นายมาริษ กล่าวว่า อีกทั้ง ตนเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวการเชื่อมต่ออารยธรรมที่มีคุณค่า รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยมีสถานที่ตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่มมูลค่า ประสบความสำเร็จ นำมาซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

นายมาริษ กล่าวอีกว่า ภูมิภาคเอเชียใต้มีพลเมืองเกือบ 2,000 ล้านคน เทียบเท่า 1 ใน 4 ของ ประชากรโลก เป็นจุดเชื่อมทั้งทางบกและทางทะเล ทำให้มีการแข่งขันในด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ขณะที่ประเทศไทยตั้งอยู่ศูนย์กลาง และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยมีความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ผ่านกลุ่มความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือบิมสเทค (BIMSTEC) ขณะที่การเชื่อมโยงผ่านอาเซียนพลัส ส่วนประเทศสำคัญที่สุด คืออินเดียที่มีความสัมพันธ์กับไทยอย่างแนบแน่น ทั้งนี้ ตนจะเข้าพบนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รมว.ต่างประเทศอินเดีย เพื่อหารือหลายประเด็นซึ่งรวมถึงความร่วมมือพัฒนาพลังงานทางเลือก ความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคงที่ขณะนี้ไทยมีเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ในระดับหนึ่ง ส่วนอินเดียปากีสถานและประเทศอื่นๆ มีศักยภาพที่จะพัฒนาร่วมกันได้ เพื่อความมั่นคงทางด้านการทหารและการเมือง อีกทั้งจะหารือถึงการเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียใต้

นายมาริษ กล่าวว่า ส่วนบังคลาเทศมีศักยภาพสูง แต่ขณะนี้ประสบปัญหาการเมือง มีการขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี และมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นไทยและอินเดียจะต้องร่วมมือกันพยุงให้ประเทศที่มีปัญหาในกลุ่มเอเชียใต้ กลับมามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญของรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการร่วมมือกับประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย และมีประชากรจำนวนมาก รวมถึงมีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่า อาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคเป็นลำดับต้นๆ ของโลก จึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก ขณะที่ประเทศศรีลังกามีความสัมพันธ์กับไทยมาช้านาน มีความไว้เนื้อเชื่อใจ  ติดต่อเรื่องพระพุทธศาสนา รวมถึงการค้าและการลงทุน