เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมแถลงข่าวการจัดการจราจรในระหว่างดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนก่อนเริ่มดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ
นายกิตติกร กล่าวว่า รฟม. ได้แจ้งให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ร่วมลงทุน เริ่มงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 โดยปัจจุบัน บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างของผู้ร่วมลงทุน มีกำหนดจะเริ่มเบี่ยงจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานีแรก ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 15 พ.ย. 67 ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ เพื่อดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคเป็นลำดับแรก โดยจะดำเนินการปิดการจราจร ชิดทางเท้า 1 ช่องจราจร ยกเว้นสถานีศิริราช จะเป็นการจัดการจราจรในพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ส่งผลกระทบต่อช่องจราจร สำหรับสถานีส่วนที่เหลืออีก 6 สถานี จะดำเนินการปิดจราจรตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย. 67 ทั้งนี้เครื่องจักรจะเริ่มเข้าทำงานตั้งแต่ช่วงต้นปี 68 เป็นต้นไป
นายกิตติกร กล่าวต่อว่า การก่อสร้างโครงการฯ ต้องมีการรื้อสะพานที่ใช้งานในปัจจุบัน 3 แห่ง ได้แก่ สะพานข้ามแยกราชเทวี, สะพานข้ามแยกบางขุนนนท์ และสะพานข้ามแยกประตูน้ำ ซึ่งจะเริ่มรื้อย้ายสะพานราชเทวี และบางขุนนนท์ก่อนในช่วงเดือน ม.ค.68 จากนั้นจะรื้อสะพานแยกประตูน้ำ ประมาณเดือน มี.ค.69 ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสร้างสะพานกลับคืน โดยการรื้อสะพานกลับมาสร้างใหม่คืน จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่ง รฟม. ได้กำชับผู้รับจ้างให้พยายามเร่งรัดการก่อสร้างจุดดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบให้ประชาชน
นายกิตติกร กล่าวอีกว่า เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ มีสภาพการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่น และมีชุมชน โรงเรียนโดยรอบ รฟม. และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อหามาตรการร่วมกันในการลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางตลอดระยะเวลาการดำเนินงานพร้อมกันนี้ รฟม. ยังตระหนักถึงผลกระทบในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ จึงได้กำชับให้ผู้รับจ้างลดผลกระทบด้านการจราจร โดยปิดจราจรเท่าที่จำเป็นในระหว่างดำเนินงาน ติดตั้งป้าย และเครื่องหมายจราจรให้ชัดเจนตามมาตรฐาน จัดให้มีอาสาจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างแต่ละจุด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก
โดยจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าทางช่องทางต่างๆ ตลอดจนการดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการติดตั้งรั้วสูง 2 เมตร ล้อมรอบพื้นที่ก่อสร้างปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้าง/กระบะรถบรรทุกล้างทำความสะอาดถนนสาธารณะสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ใช้รถกวาดดูดฝุ่นทุกวัน ติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำแรงดันสูง (High Pressure Water System) ทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดี ติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวในพื้นที่ที่กำหนด เป็นต้นทั้งนี้ในช่วงก่อสร้าง รฟม. จะเน้นย้ำกำชับที่ปรึกษาและผู้รับจ้าง ให้ดำเนินการก่อสร้างด้วยความปลอดภัยสูงสุด ตามนโยบายด้านความปลอดดภัยของกระทรวงคมนาคม
ด้าน พล.ต.ต.ธวัช กล่าวว่า ในช่วงระหว่างดำเนินงาน จะพิจารณามาตรการบรรเทาความหนาแน่นด้านการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น อาทิ การปรับทิศทางการสัญจรเป็นพิเศษในบางช่วงเวลา การกำหนดทางลัดทางเลี่ยง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง และช่วยระบายการจราจร บรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ในระหว่างการปิดจราจร จะจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่ ตำรวจจจราจร พร้อมด้วยอาสาจราจรของผู้รับจ้างฯ เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทาง รวมถึงจะร่วมกันเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน ทั้งนี้ในการพิจารณาจัดรูปแบบการจราจรต่างๆ ในระหว่างดำเนินงานก่อสร้าง ตำรวจจราจรจะพิจารณาโดยมุ่งลดผลกระทบต่อประชาชนผู้สัญจรทางถนนเป็นสำคัญ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม 1.90% เป็นไปตามแผนงาน.