นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง  เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้เสียรายย่อยที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์ มูลค่า 1 ล้านล้านบาท โดยเสนอให้ธนาคารยกเว้นดอกเบี้ยให้เป็นเวลา 3 ปี มีเป้าหมายเพื่อให้หนี้ที่มีอยู่ ได้รับการปรับโครงสร้าง สามารถชำระได้ และเมื่อสามารถชำระได้แล้ว ก็ให้มีลู่ทางที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อใหม่เพิ่มเติม 

“เพื่อให้บรรลุ 2 วัตถุประสงค์ดังกล่าว กลุ่มลูกหนี้ที่เราจะเลือกเข้าสู่โครงการ คือ ลูกหนี้ที่เพิ่งเริ่มมีปัญหา คือ ที่เพิ่งค้างการชำระหนี้เกิน 30 วัน ถึง 90 วัน และอาจพิจารณาถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จนถึง 1 ปี เพราะเราเห็นว่า ยังถือว่าเป็นลูกหนี้ที่ยังมีปัญหา แม้จะยาวไปหน่อยก็ตาม ก็ยังคิดว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ยังสามารถแก้ไขหนี้ได้ แต่หนี้ส่วนที่ค้างเกิน 1 ปี อาจต้องรอเอาไว้ก่อน  ซึ่งกลุ่มที่จะแก้ก่อนนี้ มีมูลหนี้คิดรวมเป็นราว 1 ล้านล้านบาท”

ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขหนี้กลุ่มนี้ คือ  1. ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 3 ปี ส่วนภาระดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ไม่ต้องจ่าย จะเอามาจากไหนนั้น ผมคิดว่าทั้งภาครัฐและภาคธนาคารต้องช่วยกัน 2. เมื่อไม่มีภาระดอกเบี้ย 3 ปี ลูกหนี้ที่เข้าโครงการก็จะให้ผ่อนเฉพาะเงินต้น โดยในการผ่อนเงินต้นนั้นให้มีระยะเวลาการผ่อนที่ยาวขึ้น และเบื้องต้นขอให้จ่ายเงินต้นแค่ครึ่งหนึ่งของที่เคยจ่าย อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้เหล่านี้ยังมีประวัติอยู่ในเครดิตบูโร  ซึ่งการจะขอกู้ใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับสถานะของลูกหนี้รายนั้นๆ ที่ธนาคารจะเป็นผู้พิจารณา

นายพิชัย กล่าวว่า เท่าที่หารือกับธนาคารพาณิชย์มาก่อนหน้านี้ ก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหลังจากนี้จะให้ธนาคารพาณิชย์ไปหารือกันเองเพื่อหาข้อยุติ นอกจากนี้ ตนยังจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย  เพื่อให้พิจารณาในการผ่อนปรนเกณฑ์ มาตรการกำกับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือแอลทีวี ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เพื่อเปิดทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น