กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศเป็นหนึ่งพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้ว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ได้วางมาตรการและดำเนินการอย่างเข้มข้น อาทิ ตรวจวัดควันดำทั้งรถบรรทุกในไซส์งานก่อสร้าง ท่าเรือ/นิคมอุตสาหกรรม ตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุก การนำรถอัดฟางใช้ในการเกษตร ส่งเสริม EVธงคุณภาพอากาศ ห้องปลอดฝุ่น DIY เครื่องฟอกอากาศ แคมเปญ รถคันนี้ลดฝุ่น รวมทั้งการขอความร่วมมืองดจุดธูป เทียน ในวัดและศาลเจ้า
ปีนี้ยังคงใช้มาตรการเดิมอย่างเข้มข้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมานั่นคือ การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ในวันที่ค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน75.1มคก.ต่อลบ.ม. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯชั้นใน ในช่วงที่ฝุ่นอยู่ในช่วงอันตราย โดยการกำหนดมาตรการในครั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันสุขภาพอนามัยประชาชน ซึ่งการจะออกประกาศกรุงเทพมหานคร ในแต่ละครั้งนั้นภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้ 1. ข้อมูลบ่งชี้ : ค่าเฉลี่ยฝุ่นPM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต 2. การพยากรณ์ ล่วงหน้า 2 วัน ประกอบด้วย ค่าฝุ่น PM2.5 ระดับสีแดง มากกว่า 5 เขต หรือ ระดับสีส้ม มากกว่า 15 เขต อัตราการระบายอากาศ (VR) น้อยกว่า 3,000 ตร.ม.ต่อวินาที และทิศทางลมจากตะวันออก 3. ประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ระยะเวลาการห้าม 3 วัน โดยมีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศ
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวระหว่างแถลงความร่วมมือในการลดฝุ่นPM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยว่า กทม.พยายามหาอำนาจทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมลพิษ ซึ่ง กทม. สามารถใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีเกิดเหตุหรือใกล้จะเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้สามารถกำจัดต้นตอของสาธารณภัยได้ จึงใช้อำนาจตามมาตรา 29 ประกอบกับ มาตรา 37 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อลดปัจจัยต้นตอสำคัญของมลพิษและลดความอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่
โดยมีมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ (Low Emission Zone) และแนวทางการดำเนินงานภายใต้ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้พื้นที่บังคับใช้ จำนวน 9 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตคลองสาน เขตสาทร เขตปทุมวัน เขตบางรัก และแนวถนนต่าง ๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ช่วงเดือน ม.ค.68
ซึ่งระหว่างนี้กทม.จะจัดทำบัญชีสีเขียวหรือ Green List และเปิดให้ผู้ประกอบการที่มีรถบรรทุกดีเซล 6 ล้อขึ้นไป ลงทะเบียน ตั้งแต่ 1 พ.ย.-31ธ.ค.67 เพื่อสามารถขับรถเข้าในพื้นที่ Low Emission Zone ในห้วงระยะเวลาที่กทม.ออกประกาศห้ามได้
สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่จะนำมาลงทะเบียนบัญชีสีเขียวนั้น จะต้องผ่านกระบวนการบำรุงรักษารถ ประกอบด้วย เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองอากาศ และการติดตั้งตัวกรองอนุภาคไอเสียดีเซล (DPF) และมาตรฐานต่างๆตามกรมการขนส่งทางบก
พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีสีเขียวกับข้อมูลจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนอีกด้วย ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนนำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว เข้าพื้นที่ในการช่วงที่มีการประกาศพื้นที่ Low Emission Zone ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“มาตรการดังกล่าวเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับรถบรรทุกส่วนใหญ่ให้ปรับปรุงตนเอง เพื่อลดมลพิษให้กับกรุงเทพฯทั้งในเวลาปกติและเมื่อเกิดภาวะวิกฤติฝุ่นหนาแน่น และ กทม. มั่นใจในเทคโนโลยีว่าจะช่วยตรวจจับผู้ฝ่าฝืนนำมาดำเนินคดีได้ เพราะที่ผ่านมากทม.ได้ใชเทคโนโลยีในการดำเนินการ เช่น กล้องจับทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้ามีราว 1แสนเคส หรือการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักหนักเกิน โดยนำเรื่องส่งฟ้องศาลแล้วกว่า 30 คดี เบื้องต้นศาลสั่งลงโทษผู้กระทำผิดแล้ว 2 ราย ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องกังวลเพราะเป็นการห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองเป็นหลัก ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่สามารถช่วยกันป้องกันการเกิดฝุ่นได้ด้วยการทำ 2 เรื่องคือ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง-ไส้กรองอากาศ ในโครงการรถคันนี้ลดฝุ่น ปี 2568 ซึ่งก็จะมีส่วนลดต่างๆเริ่ม 1 พ.ย.67 และร่วมโครงการ Work From Home ในวันที่ฝุ่นเยอะ ซึ่งคาดว่ามาตรการต่างๆนี้จะเป็นมาตรการเชิงบวกเพื่อให้คุณภาพอากาศดีขึ้น”.
ทีมข่าวชุมชนเมืองรายงาน