เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอในการลดขั้นตอนการให้สัญชาติไทยกับบุคคลกว่า 4.8 แสนคนนั้น ยืนยันว่าเป็นการให้สัญชาติต่อผู้ที่ยื่นขอไว้ และอยู่ในระบบของทางราชการมากว่า 30 ปี ไม่ใช่ให้สัญชาติแก่คนสีเทาๆ หรือพวกอาชญากรข้ามชาติ ทั้งนี้ ที่สมช. เสนอ ครม. นั้นเป็นการลดขั้นตอนและเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535 – 2566 มีประมาณ 8.25 แสนคน ซึ่งใช้เวลาไปแล้วถึง 31 ปี หลายรัฐบาลอนุมัติไปได้แค่ 3.24 แสนคน ซึ่งคนจำนวนมากรอจนเสียชีวิตไปแล้วก็มาก เนื่องจากรอขั้นตอนทางราชการของหน่วยงานความมั่นคงทางปกครองมานานกว่า 30 ปี โดยปัจจุบันยังมีตกค้างอยู่อีกราว 4.83 แสนคน ซึ่งทาง สมช. เห็นว่าหากยังใช้ขั้นตอนเดิมในยุคก่อนที่ต้องตรวจสอบและจัดทำประวัติแบบแอนะล็อกไม่รวดเร็วและทันสมัยเท่าปัจจุบัน ต้องใช้เวลาถึง 44ปี แต่ปัจจุบันมีระบบจัดเก็บข้อมูลประวัติลายนิ้วมือทางคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งระบบไบโอเมตริกซ์ก็จะรวดเร็วจากการลดขั้นตอนได้มาก
        

ทั้งนี้ สมช. ยืนยันว่า คนจำนวน 4.83 แสนคนนี้ แบ่งเป็นกลุ่มแรก 3.40 แสนคน ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและจัดเก็บฐานข้อมูลต่างๆ ไว้หมดแล้ว นายจิรายุกล่าวว่า คนกลุ่มนี้จะได้รับใบถิ่นที่อยู่ถาวรและต้องใช้เวลาขั้นต่ำอีก 5 ปี เพื่อขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และเมื่อได้รับสัญชาติไทยแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิทางการเมือง เช่น การลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งไปลงคะแนนเลือกตั้งได้ในทุกระดับ โดยต้องแปลงสัญชาติมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี จึงจะมีสิทธิ เท่ากับว่าต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 10 ปี ส่วนกลุ่มที่ 2 ประมาณ 1.43 แสนคน เป็นบุตรที่เกิดจากบุคคลกลุ่มแรกที่เกิดในประเทศไทย ที่มีเอกสารการเกิดจากสถานที่เกิดต่างๆ ในประเทศไทย 

“ในอดีต เรามีคนโพ้นทะเลอพยพมาในสยาม หรือในประเทศไทย เรามี “ผู้อพยพ” ยุคเวียดนามใต้ ในยุคไซ่ง่อนแตก เรามีไทยรามัญ และอีกหลากหลายประเทศเข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็เข้มงวดในการให้สัญชาติ โดยประเทศไทยได้ให้สัญชาติไทยไปแล้วนับล้านคน” นายจิรายุกล่าว