กรณีเมื่อวันที่ 29 ต.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ หลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ โดยเป็นการร่นระยะเวลาการดำเนินงานจากกว่าร้อยวัน เหลือเพียง 5 วัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่อยู่อาศัยในไทยมานานรอการพิจารณากำหนดสถานะอยู่จำนวน 483,626 คน
‘ภูมิธรรม‘ แจงมติครม.ร่นเวลาให้สัญชาติผู้อพยพ มีกระบวนการตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นายสุรพงษ์ กองจันทึก เลขานุการประจำคณะกรรมการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการกลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ถึง กรณี ที่ทาง คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการ หลักเกณฑ์การแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนมองว่าในขณะนี้ต้องทำความเข้าใจต่อประชาชนส่วนใหญ่ก่อนว่า การดำเนินการตามที่ทางคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการนั้น เป็นการลดขั้นตอนการปฎิบัติ รวมถึง ระยะเวลาในการดำเนินการให้มีความกระชับมากขึ้น และกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิ์นั้น ก็เป็นกลุ่มบุคคล ที่รัฐเองมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และกลุ่มบุคคลนั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ได้เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ให้สัญชาติไทย ในร่างหลักการยังไม่มีส่วนไหนที่บอกว่าจะให้สัญชาติไทย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ซึ่งกระบวนการได้สัญชาติไทย จะต้องเป็นไปตามกฏหมายและมติคณะรัฐมนตรี หรือตามนโยบายในอดีตที่ผ่านมา แต่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่ตกหล่น จากกระบวนการรัฐ ซึ่งที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนไทยตกหล่น เพราะกลุ่มนี้ได้รับสัญชาติไทยโดยมติคณะรัฐมนตรีมาแล้ว แต่กระบวนการในการรวบรวมพยานหลักฐาน ขั้นตอนต่างๆ แม้กระทั่งกระบวนการของเจ้าหน้าที่ รัฐเอง มีความล่าช้าเป็นอย่างมาก จึงส่งผลทำให้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีการเสนอร่างหลักการ ในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ขึ้น โดยมีมาตรการที่จะเร่งรัด และลดขั้นตอน ในการดำเนินการให้น้อยลง
นายสุรพงษ์ กล่าวว่าตนจึงมองว่าในระหว่างนี้ รัฐต้องเร่งสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ ให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลและเข้าใจอย่างชัดเจน ว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ เป็นกลุ่มดั้งเดิมที่รัฐมีข้อมูลอยู่แล้วและ รัฐต้องสร้างความเข้าใจว่า ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนมาก ที่บางรายยังไร้สัญชาติ หรือ กลุ่มบุคคลที่ มาจากต่างประเทศ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทย ยังไม่มีสิทธิ ในเรื่องดังกล่าว รัฐเองก็ยังไม่มีนโยบายใหม่ ที่จะมีการให้สัญชาติใดๆเพิ่มเติม แต่ในขณะเดียวกันรัฐ ก็ควรให้กลุ่มบคคลที่ได้รับสิทธิ์มานานแล้วแต่ตกหล่นได้เข้าใจว่าตนมีสิทธิ์อย่างไร และต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง จะได้มาแสดงตัวตนและยื่นเรื่องให้ถูกต้อง ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐเองได้รวบรวมข้อมูลไว้แล้ว ซึ่งบางราย มีการยื่นเรื่องไปแล้วกว่า 40 ปี ก็มี แต่ยังไม่เสร็จสิ้น
นายสุรพงษ์ กล่าวว่าประเด็นต่อมา ตนมองว่า รัฐต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจว่า เรื่องนี้ เป็นกระบวนการตามปกติของการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติและระบบทะเบียนราษฎร คือ บุคคลใดที่เป็นไทย รัฐก็ต้องดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติไทยให้ บุคคลใด ที่ไม่ใช่ไทย รัฐก็ไม่ต้องดำเนินการเรื่องสัญชาติไทยให้ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่ไทย แต่อยากได้สัญชาติไทยและไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายตามที่รัฐกำหนดหลักเกนฑ์ไว้ ก็ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกนฑ์ได้อยู่แล้ว เพราะ ระบบในฐานข้อมูลของรีฐยังไม่เคยเก็บข้อมูลไว้ ตัวอย่างเช่น แบบพิมพ์ลายนิ้วมือ หน้าตา หรืออื่นๆ ที่รัฐได้เคยจัดเก็บไว้ รัฐเองก็สามารถตรวจสอบและยืนยันได้ว่า เป็นบุคคล คนเดียวกันหรือไม่
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ซึ่งตนมองว่าไม่สามารถที่จะสวมสิทธิ์ได้ และต้องขอเน้นย้ำว่า ร่างดังกล่าวไม่ได้เป็นการให้สัญชาติแก่คนต่างด้าว คนที่มีสิทธิ์ คือ กลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้วและเป็นกลุ่มบุคคลที่ไร้สัญชาติ เพราะรัฐยังไม่ได้ดำเนินการในเรื่องของสัญชาติ ให้กับบุคคลกลุ่มนี้ อย่างครบถ้วนและถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะสำนักทะเบียนทั่วประเทศไทย เพราะเจ้าหน้าที่บางส่วนอาจจะยังไม่มีความเข้าใจในรายละเอียด เรื่องเหล่านี้ดีพอ บางครั้งอาจไปปฏิเสธสิทธิ์ ของบุคคลที่มีสิทธิ์อยู่แล้ว อีกทั้งยังต้องเร่งบริการให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วให้ถูกต้องและเป็นธรรม
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า อีกประเด็นที่ตนยังคงห่วงใยและฝากทางผู้เกี่ยวข้องได้ช่วยกันกำชับและตรวจสอบ เพราะเรื่องนี้เป็นการให้สิทธิ์กับกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิอยู่แล้ว ต้องไม่ให้มีกลุ่มบุคคลใดนำเอาเรื่องนี้ไปแสวงหาผลประโยชน์ เรียกร้องต่างๆแม้กระทั่งการทุจริต คอรัปชั่น เช่น อาจมีการ ให้ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ ผู้มีอิทธิพล ในการเรียกรับเงินจากชาวบ้าน โดยอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น ต้องจ่ายเงินเพราะมีค่าดำเนินการ หรือ ต้องนำเงินไปจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยเพราะการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด รัฐเองจึงต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน หรือ กลุ่มบุคคลที่มีสิทธิ์ ได้เข้าใจและหากมีการเรียกรับผลประโยชน์ใด้ สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ใดเช่นสายด่วน หรือสายตรงไปที่ใดได้บ้าง เพื่อเป็นการป้องกันการที่จะมีกลุ่มบุคคลแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์ต่อไป