อาการง่วงเหงาหาวนอนแม้เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย แต่หากเผลอหลับไม่รู้ตัวมากเกินไป ก็อาจเข้าขั้นกลายเป็น “โรคลมหลับ” ที่ต้องได้รับการรักษา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกเล่าสาระความรู้เกี่ยวกับ “โรคลมหลับ (Narcolepsy)” ว่า เป็นโรคที่ส่งผลต่อการนอนหลับ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตอย่างมาก หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
สาเหตุของโรค
เป็นความผิดปกติของสมองส่วนควบคุมการหลับและตื่น โดยมีการหลับแทรกเข้ามาขณะที่ยังตื่นอยู่ โดยพบว่ามีการตายของ Hypocretin Neurons ในแกนสมองส่วน Hypothalamus โดยพบว่ามีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานผิดพลาด จากการติดเชื้อไวรัส หรือวัคซีนบางชนิด โดยพบบ่อยในผู้ที่มี HLA DQB1*0602
อาการ
@ ง่วงนอนมากผิดปกติ และอาจหลับในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ในห้องเรียน ที่ทำงาน โรงภาพยนตร์
@ รู้สึกว่าขยับร่างกายไม่ได้ขณะกำลังจะตื่น (Sleep Paralysis) ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่มีอันตราย
@ อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก หรือผลอยหลับ เมื่ออารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น โกรธ เครียด หัวเราะ
@ อาจตื่นบ่อยๆ ตอนกลางคืน
การรักษาและบรรเทาอาการ
1.การรักษาภาวะง่วงนอนมากกว่าปกติ โดยใช้ยา
2.พฤติกรรมบำบัด เช่น การนอนและตื่นให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ และการนอนพักช่วงสั้น ๆ เวลากลางวัน
3.ระมัดระวังในกิจกรรมที่อาจเกิดอันตราย เช่น ขับรถ ทำอาหาร
ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย.