เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ตึกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เคยระบุว่าขออย่านำความคลั่งชาติมาทำให้เสียประโยชน์ของประเทศ ในเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป ฉบับปี 2544  ว่า ชาตินิยมไม่ใช่เรื่องผิด แต่ชาตินิยมที่ล้นเกินจนทำให้เกิดการทำลายล้างกันทางการเมือง และการสูญเสียโอกาสความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ถือเป็นปัญหาที่ต้องระวัง ทั้งนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องเกาะกูด คือ การฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (โอซีเอ) ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเอ็มโอยูฉบับปี 2544 จบไปแล้ว ส่วนตัวตนเชื่อว่าเกาะกูดต้องเป็นของคนไทยอย่างแน่นอน

นายพิธา กล่าวอีกว่า ถ้าจะมีการพูดคุยกันในระดับโอซีเอ ก็ต้องกำหนดพื้นที่ซึ่งมีปิโตรเลียมอยู่ และมีการพูดคุยกันแค่นั้น เกาะกูดไม่ควรเข้าไปอยู่ในการเจรจาครั้งนั้น ถ้าจำไม่ผิด พื้นที่ไม่ถึง 20,000 กว่าตารางกิโลเมตร แต่หากว่าไปไกลถึงขนาดกว้างเท่าเกาะกูด ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัย ดังนั้น รัฐบาลต้องพูดให้ชัดว่าถ้าจะทำเรื่องเกี่ยวกับปิโตรเลียม หลังจากทำโอซีเอ ต้องจำกัดให้ไม่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดเป็นของไทย ไม่มีทางเป็นของประเทศอื่น เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การตกลงกันระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่เป็นเรื่องระดับสหประชาชาติ ที่มีระเบียบโลกบอกไว้แล้วว่าเรื่องแบบนี้ เป็นปัญหาเรื่องอาณาเขตของแต่ละชาติ

นายพิธา กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลพูดได้ชัด ก็จะทำให้เรื่องจบไปว่าพื้นที่ที่มีข้อพิพาทอยู่ จำกัดอยู่แค่ตรงนี้เท่านั้น และไม่รวมเกาะกูด ซึ่งมองว่าจะทำให้เชื้อไฟที่ทำให้เกิดความชาตินิยมแบบล้นเกินให้หมดไป แล้วค่อยมาสู้กันในเรื่องการแก้ปัญหาให้ประชาชน และออกกฎหมายที่มีความก้าวหน้า การตรวจสอบรัฐบาลแบบที่ควรจะเป็น

นายพิธา กล่าวว่า หากรัฐบาลยังไม่ออกมาพูดให้ชัดเจนจะเป็นผลเสียต่อทั้งรัฐบาลเอง จะเกิดการตั้งคำถามว่าตกลงแล้วพื้นที่ซึ่งจะเจรจากับประเทศกัมพูชาคือหลักพันหรือหลักหมื่น หากพูดให้ชัดว่าจบแค่นี้จริงๆ ประชาชนก็จะไม่คิดเลยเถิดในแบบที่ นายภูมิธรรม กังวล แต่เมื่อไม่ยอมบอกว่าการเจรจาจบแค่นี้ ไม่ได้ต่างจากเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันในอ่าวไทย ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เราไม่สูญเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด การแบ่งผลประโยชน์เป็นไปในลักษณะแบบไหน

“เมื่อเรื่องนี้ไม่ชัดเจน ประชาชนจึงตั้งคำถามและเป็นการเปิดช่องให้นำกระแสชาตินิยมมาใช้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับชาติไทย และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประชาคมอาเซียนเลย โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แทนที่จะใช้ความเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียนในการบริหารอุณหภูมิทางภูมิรัฐศาสตร์ เราก็พลาดโอกาสนี้ไป” นายพิธา กล่าว