เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 ต.ค. 67 ที่ ศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายกิตติคุณ เเสงหิรัญ ตัวแทนจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมนางอภันธ์ตรี เจริญศักดิ์อายุ 55 ปี และผู้เสียหายกว่า 20 คน เข้าพบกับพนักงานสอบสวน เพื่อเเจ้งความเอาผิดบริษัทผลิตพลังงานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พลังงานสะอาดแห่งหนึ่ง หลอกลวงให้ผู้ลงทุนมีสมาชิกผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 70,000 คน

นางอภันธ์ตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2562 ผู้เสียหายส่วยใหญ่ได้รับลิงก์จากบริษัทดังกล่าวเกี่ยวกับการนำเงินเกษียณอายุไปลงทุนต่อยอด จึงได้มีการชักชวนร่วมลงทุนเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานสะอาด มีการโฆษณาว่าเครื่องดังกล่าวจะสามารถขายได้ทั้งในและต่างประเทศ หากซื้อหุ้นราคาละ 100 บาท จะได้เงินปันผลใน 50 สัปดาห์ และหลังจากนั้นจะได้เงินปันผลตลอดชีวิตจึงมีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าร่วมลงทุน ซึ่งบริษัทดังกล่าวอ้างว่าเงินปันผลจะถูกหัก 10% เข้าสรรพากรและมีการปันผลกับผู้เเนะนำ

โดยกลุ่มผู้ลงทุนกลุ่มแรกได้เริ่มลงทุนเมื่อเดือน ก.ย. 2562 กลุ่ม 2 เดือน ธ.ค. 2562- เม.ย. 2563 และกลุ่มที่ 3 เริ่มต้นเมื่อเดือน พ.ค. 2563 และได้ปันผล 3% ใน 30 สัปดาห์ ทำให้ในช่วงระหว่างกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สามผู้เสียหายมีการระดมซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากโดยมีการโอนเงินเข้าธนาคารแห่งหนึ่งสาขารามอินทรา ตั้งเเต่หลักเเสนถึงหลักล้านบาท ซึ่งช่วง พ.ค. 63 โปรแกรมในการลงทุนได้มีการปิดลงเนื่องจากทางรัฐบาลได้มีการยึดทรัพย์ หลังจากกนั้นทางบริษัทได้ให้แอดมินติดต่อกลับผู้เสียหายเพื่อเกลี้ยกล่อมในกลุ่มไลน์ที่มีจำนวนสมาชิก 2,000 คน เพื่อไม่ให้เเจ้งความ โดยอ้างว่าถูกภาครัฐกลั่นแกล้งอายัดและปิดบัญชี และยังอ้างอีกว่าจะมีการซื้อหุ้นและเยียวยาคืนแต่ก็ไม่มีจริงจึงได้มีการเรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรมกับศาลชั้นต้นเมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2566 ซึ่งหลังจากนั้นมีการ ยื่นอุทธรณ์ 5-7 ครั้ง โดยศาลให้บริษัทดังกล่าวนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาแสดงแต่ก็ไม่ได้มีการนำมาจึงยุติไปในช่วงเดือน พ.ค. ทั้งนี้ตัวเองและผู้เสียหายในวันนี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกเยียวยาในกลุ่มแรกจำนวน 299 คน จึงมาขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา

อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายชุดหลังได้มีการไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจใกล้บ้านแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าอายุความทางคดีนั้นเกิน 90 วันแล้ว จึงทำได้เพียงแค่ลงบันทึกประจำวันไว้ จากนั้นจึงได้มีการรวมตัวกันไปยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งโดยศาลชั้นต้นได้มีการตีตกไป หลังจากนั้นก็ได้มีการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ

ส่วนกรณีที่ทรัพย์สินที่ทาง ปปง. ได้อายัดไว้มูลค่า 400 ล้านบาท จะตกเป็นของแผ่นดินนั้นผู้เสียหายที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรกที่ได้รับการเฉลี่ยเงินคืน จะสามารถร้องเรียนได้ในระยะเวลาหนึ่งปีหรือจนกว่าคดีจะสิ้นสุด จึงได้มีการทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดแต่ก็ยังมีการเรียกไปพูดคุยว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ วันนี้จึงต้องมาพึ่งตำรวจ บก.ปอศ. เพราะทราบว่ามีผู้เสียหายประมาณ 60 คนที่ยังมีคดีค้างอยู่ที่ บก.ปอศ. เพื่อนำผู้เสียหายที่มาในวันนี้นั้นไปรวมกับ 60 คนในการดำเนินคดีอาญา คดีนี้เชื่อว่ามีผู้เสียหายมากถึง 70,000 คนแต่หลายคนไม่กล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะไม่รู้ช่องทางในการเข้าดำเนินการ

นายกิตติคุณ กล่าวว่า ในส่วนของคดีอาญา จะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผิดข้อหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้เสียหายไปแจ้งความแล้ว 60 คน ซึ่งสภาทนายความได้ประสานอัยการกองเศรษฐกิจและทรัพยากร แต่ปรากฏว่าผ่านมา 3 ปีเปลี่ยนพนักงานอัยการจนครบวาระแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนผู้เสียหายไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและกระทรวงยุติธรรม รวมถึงเดินทางมาแจ้งความเพิ่มเติมในวันนี้ด้วย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ก็ไม่นิ่งนอนใจและจะมีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งผู้เสียหายที่เหลือที่ต้องการได้รับความเป็นธรรม จากกรณีดังกล่าวสามารถติดต่อมาทางสภาทนายความฯได้.