เมื่อวันที่ 30 ต.ค.นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ใช้ช่วงเวลาปิดสมัยประชุมสภา เร่งสะสางปัญหาการประพฤติ ปฎิบัติตัวไม่เหมาะสมของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นปัญหาสะสม หมักหมมมานาน ให้เกิดความกระจ่าง และรายงานให้ประชาชนชาวไทยรับทราบก่อนเปิดสมัยประชุมหน้า เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ศรัทธากลับคืนมา โดยเฉพาะกรณีของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ตนเองได้ยื่นให้ตรวจสอบไปก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องของวันลามาขาด และการเดินทางไปต่างประเทศที่เป็นไปในลักษณะ“บินหรู กินอยู่สบาย” เข้าข่ายรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3 พันบาทหรือไม่
นายพร้อมพงศ์กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบวันลามาขาดของพลเอกประวิตร ในสมัยประชุมนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค ถึงวันที่ 30 ต.ค. ทั้งหมดรวม 38 ครั้ง พบว่า พลเอกประวิตร“ลา” 35 ครั้ง โดย“มา”ลงชื่อ 3 ครั้ง แต่พบว่าเป็นการมาลงชื่อ โดยที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมเลยทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าพลเอกประวิตรพลเอกประวิตรจะแจ้งไม่ขอรับเงินเดือน และจะคืนเงินเดือนทั้งหมด ก็ไม่ได้หมายความว่า พลเอกประวิตร จะใช้วิธีการลา หรือไม่เข้าประชุมสภาฯได้ เพราะถือเป็น“หน้าที่”ของส.ส.ทุกคนที่ต้องปฏิบัติ
และถ้ารวมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. จนถึงวันที่ 30 ต.ค. รวม 3 สมัยประชุม มีการประชุมทั้งหมด 103 ครั้ง พบว่า พลเอกประวิตร ลาประชุมถึง 89 ครั้ง โดยมาประชุมเพียง 14 ครั้ง ถือเป็นการกระทำที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าส.ส.จะขาดประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมและข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของส.ส.ที่ระบุว่าส.ส.ต้องอุทิศเวลาให้กับการประชุม ต้องไม่ขาดการประชุมโดยไม่จำเป็น เว้นแต่เจ็บป่วยหรือมีเหตุสุดวิสัย
“คนที่เสนอตัวจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้เป็นตัวอย่างที่ดีก่อน ถ้ายังทำหน้าที่ส.ส.ที่ดีไม่ได้ แล้วจะเป็นนายกฯได้ยังไง ผมมั่นใจในตัวประธานวันนอร์ว่ามีความเป็นผู้ใหญ่ จะกล้าหาญในการเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ การลงชื่อมาประชุม มีการแตะบัตรแทนกันหรือไม่ และการขาดประชุมโดยใช้การลาเป็นฉากบังหน้า ที่มีมากถึง 89 ครั้ง ถือว่าพลเอกประวิตรขาดคุณสมบัติความเป็นส.ส.และเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง แล้วหรือไม่“ นายพร้อมพงศ์กล่าว