พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้ประชุมชี้แจงการยื่นคำขอตามประกาศเชิญชวนขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบ FM สำหรับการให้บริการกระจายเสียงประเภทสาธารณะและบริการชุมชน ซึ่งได้ออกประกาศเชิญชวนผ่านสื่อไปแล้วระหว่างวันที่ 15 – 31 ตุลาคม 67 และในวันที่ 28 – 29 ตุลาคมนี้ เป็นการชี้แจงกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการยื่นคำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งทดสอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทั้งออนไซต์และออนไลน์  เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ ได้เข้าใจถึงหลักเกณฑ์ในการขอรับใบอนุญาตที่จะต้องยื่นผ่านระบบ e-BCS ระหว่างวันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2567 นี้ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้รับอนุญาตให้ทดลองออกอากาศไม่มายื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องสิ้นสุดการทดลองออกอากาศภายในวันที่ 31 ธันวาคม 67 นี้ทันที แต่หากมายื่นจะได้รับสิทธิการทดลองออกอากาศต่อตามบทเฉพาะจนกว่า กสทช.จะสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือสั่งเป็นอย่างอื่น

สำหรับการอนุญาตกระจายเสียงประเภทสาธารณะและบริการชุมชนตามประกาศเชิญชวนนี้ เป็นการส่งเสริมให้เกิดบริการวิทยุกระจายเสียงในระดับท้องถิ่นที่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีคลื่นความถี่สำหรับภาคประชาชนและประโยชน์สาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 โดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล จึงได้กำหนดคลื่นความถี่ในระดับอำเภอสำหรับประเภทสาธารณะจำนวน 554 คลื่นความถี่ และ ประเภทชุมชนจำนวน 148 คลื่นความถี่ รวมทั้งที่สามารถบริการได้ทั้งสาธารณะหรือชุมชนจำนวน 137 คลื่นความถี่ ทำให้มีคลื่นความถี่ที่สามารถให้ใบอนุญาตได้จำนวนทั้งสิ้น 839 คลื่นความถี่ ในขณะที่ปัจจุบันจำนวนสถานีวิทยุทดลองออกอากาศรายเดิมที่เป็นประเภทสาธารณะและชุมชนมีอยู่เพียง 706 สถานี จึงจะเป็นโอกาสให้เกิดวิทยุกระจายเสียงในระดับท้องถิ่นรายใหม่ได้อีก 133 สถานี สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาตามประกาศเชิญชวนฯ สรุปได้ ดังนี้

1. ข้อมูลนิติบุคคลและบุคคลในนิติบุคคลหรือข้อมูลกลุ่มคนของผู้รับใบอนุญาตฯ ต้องเป็นไปตามที่ประกาศฯ กำหนด เช่น หากประสงค์จะขอเป็นประเภทกิจการสาธารณะก็ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่บัญญัติตามที่กำหนดจริง มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการอนุญาตหากไม่เป็นไปตามที่กำหนด

2. ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคลื่นความถี่ ต้องระบุคลื่นความถี่ของอำเภอ จังหวัด และพิกัดที่ตั้งสายอากาศที่ประสงค์จะขอรับอนุญาตฯ ให้สอดคล้องตามประกาศเชิญชวนฯ

3. ข้อมูลความพร้อมด้านมาตรฐานทางเทคนิคในการใช้งานคลื่นความถี่ ต้องแสดงข้อมูลและความสามารถในการปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางเทคนิคที่กำหนด

4. ข้อมูลด้านการบริหารจัดการสถานี ต้องระบุข้อมูลบุคลากรสถานี การบริหารจัดการสถานี และความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ของบุคลากร

5. ข้อมูลแผนการให้บริการกระจายเสียง ต้องแสดงแนวทางการบริหารจัดการสถานี ทั้งในส่วนของแนวทางการพัฒนา ความต้องการรับฟังของกลุ่มเป้าหมาย การประเมินผล คุณภาพ เป็นต้น

6. ข้อมูลแผนการให้บริการกระจายเสียง ต้องมีการจัดทำผังรายการ เนื้อหารายการ และการนำไปใช้ประโยชน์

โดยผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการ จำนวน 1,000 และ 2,000 บาท สำหรับประเภทสาธารณะ และ 250 และ 500 บาท สำหรับชุมชน

พลอากาศโท ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า การยื่นการขอรับใบอนุญาตตามประกาศเชิญชวนในครั้งนี้ นับว่าเป็นความสำเร็จในความพยายามของผมที่จะทำให้สถานีวิทยุกระจายเสียงระดับท้องถิ่นเข้าสู่ระบบใบอนุญาต เพราะหลังรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ทำให้เกิดสถานีวิทยุชุมชนนั้น ต้องยอมรับว่าสถานะจริงๆ นั้น ไม่เคยได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการนานเกือบ 30 ปี ดังนั้นการดำเนินการครั้งนี้ ถือเป็นการ ยกระดับกิจการกระจายเสียงไทยไปสู่มาตรฐานสากลเพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงของประเทศไทยทั้งรายเดิมและรายใหม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน

“การจัดสรรครั้งนี้มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ และหากมีผู้แจ้งความประสงค์มากกว่า 1 รายต่อคลื่นความถี่ในท้องถิ่นใดนั้น ทาง กสทช. ต้องพิจารณาเปรียบเทียบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่ออนุญาตเพียงรายเดียว จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ทำความเข้าใจต่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ และยื่นขอรับใบอนุญาตภายในวันเวลาที่กำหนด หวังว่าสิ่งที่รอคอยมาเกือบ 30 ปี จะเกิดประโยชน์ และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงาน กสทช. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในทุกภาคและเขต “ พลอากาศโทธนพันธุ์ กล่าว