เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “ต้อนรับเทศกาลฮาโลวีน (31 ตุลาคม) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมพาทุกคนไปสัมผัสเรื่องของ “ผี” ที่ไม่น่ากลัว แต่น่ารักษ์ ในผืนป่าอนุรักษ์ 1 ทุ่ม 10 คืน 10 เรื่อง 22 – 31 ตุลาคม พบกับเรื่องผี (ไม่หลอก) จากผืนป่าอนุรักษ์ แล้วพบกัน ณ ธี่รักษ์ #ธี่หยด #ธี่รักษ์ #กรมอุทยานแห่งชาติ #ผี #ผืนป่าอนุรักษ์ #ฮาโลวีน #Halloween”

โดยโพสต์ดังกล่าวทางเพจโพสต์เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยหลังจากโพสต์ช่วงสายๆของวัน กระทั่งเวลา 1 ทุ่มตรงวันที่ 22 ต.ค. ได้โพสต์เรื่อง ผี เรื่องแรก โดยโพสต์รูปพร้อมข้อความระบุว่า ““แพะเมืองผี” ปรากฏการณ์ธรรมชาติล้านปี กับตำนานที่ถูกเล่าขานจนถึงปัจจุบัน ต้อนรับเทศกาลวันฮาโลวีนที่จะถึงนี้ แอดมินจะพาทุกท่านไปสัมผัสเรื่องราวของ “ผี” แต่ไม่ใช่ผี ในผืนป่าอนุรักษ์กับผีตอนแรก “แพะเมืองผี” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของวนอุทยานแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ วนอุทยานแพะเมืองผี ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นด้านธรณีสัณฐานที่เด่นชัด จากพื้นที่ที่มีลักษณะของดินและหินทราย ที่ถูกกัดเซาะจาก กระแสน้ำตามธรรมชาติจนเกิดการพังทลายเป็นแอ่งดิน เกิดเป็นเสาดินรูปร่างที่แปลกตา บางเสาดินอาจมีลักษณะคล้ายเห็ด ซึ่งเกิดจากจินตนาการของผู้คนที่มาเยือนแพะเมืองผีแห่งนี้ โดยนักธรณีวิทยาคาดว่า “แพะเมืองผี” มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ล้านปี

ชื่อ “แพะเมืองผี” ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า มีหญิงชราคนหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ย่าสุ่ม” เข้าไปหาผัก หน่อไม้ เพื่อเป็นอาหาร ได้เดินหลงเข้าไปในป่าและได้พบหลุมเงิน ทองคำ จึงได้นำเงินและทองคำที่พบนำใส่ถุงแล้วเตรียมหาบ จะกลับบ้าน จากนั้นได้หลงป่าอีก ทำให้ไม่สามารถนำเอาหาบเงินและทองคำออกมาได้ ย่าสุ่มจึงวางหาบแล้วหาไม้มาคาดเป็นราว (ราวไม้) เพื่อเดินออกจากป่า เมื่อออกจากป่ามาถึงบ้าน ได้ชวนเพื่อนบ้านเข้าไปในป่าอีกครั้งเพื่อจะได้นำหาบเงินและทองออกมา เมื่อเข้าไปถึงจุดที่ย่าสุ่มวางหาบไว้ แต่ก็ไม่พบเงินและทองคำในหาบแต่อย่างใด และไม่รู้ว่าเงินทองในหาบดังกล่าวหายไปได้อย่างไร

ชาวบ้านจึงขนานนามสถานที่นั้นว่า “แพะย่าสุ่มคาดราว” ซึ่งปัจจุบัน เรียกว่า “แพะเมืองผี” นอกจากนั้นชื่อ “แพะเมืองผี” ยังมาจากภาษาพื้นเมืองทางภาคเหนือ คำว่า “แพะ” ในที่นี้หมายถึง ป่าแพะ ส่วนคำว่า เมืองผี เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกสืบต่อกันมาในอดีต โดยอาจจะเห็นว่า ป่าแพะ ตรงนี้มีลักษณะพิศดาลของภูมิประเทศ และเพราะความเร้นลับตามเรื่องราวที่เชื่อถือเล่าสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นยังไงกันบ้างกับเรื่องราวของ “ผี” ที่แรก ที่แอดมินนำมาฝากกัน เป็นผีที่ไม่น่ากลัว แต่น่ารักษ์ แอบกระซิบบอกว่ายังมีเรื่องราวเกี่ยวกับ “ผี” ในผืนป่าอนุรักษ์ ที่จะชวนทุกท่านมาขนลุกกัน 10 วัน 10 คืน รอติดตามกันได้ยาว ๆ ทุก 1 ทุ่ม ณ ธี่รักษ์ ข้อมูล : วนอุทยานแพะเมืองผี #ธี่หยด #ธี่รักษ์ #ฮาโลวีน #แพะเมืองผี #แพร่ #วนอุทยานแพะเมืองผี #วนอุทยาน #กรมอุทยานแห่งชาติ”

ต่อมาเวลา 1 ทุ่ม วันที่ 23 ต.ค. โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ““มะนาวผี” พืชสมุนไพรชื่อแปลก มากด้วยสรรพคุณ เข้าสู่คืนที่ 2 กับเรื่องราวของ “ผี” น่ารักษ์ ในผืนป่าอนุรักษ์ วันนี้แอดมินพามารู้จักกับ “มะนาวผี” พืชสมุนไพรในผืนป่าอนุรักษ์ ที่มากด้วยสรรพคุณรักษาโรค

มะนาวผี พืชสมุนไพรที่มีต้นขนาดเล็ก ลำต้นและกาบใบมีหนามแหลม มีใบย่อยรูปแถบเรียวยาว ลักษณะปลายใบแหลมเรียงเป็นกระจุกตรงข้าม กระจุกละ 5-8 ใบ ออกช่อดอกจากลำต้นตรง ส่วนที่มีกาบใบหุ้มจะทยอยออกดอกสีขาวนวลเกาะเป็นกลุ่มเดียวกัน ผลสด มีลักษณะรูปทรงกลมที่มีผิวขรุขระ เมื่อสุกจะมีสีเขียวอมเหลือง ผลแก่สีเหลืองขาว และสรรพคุณอยู่ที่ ใบและผลของมะนาวผี โดยใบช่วยแก้จุกเสียด แก้ท้องเสีย ช่วยรักษาโรคผิวหนัง และผลช่วยรักษาโรคในทางเดินหายใจค่ะและนี่ คือ พืชสมุนไพรชื่อแปลกที่อยู่ในผืนป่าอนุรักษ์ที่แอดมินนำมาฝากกันในคืนนี้ แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ รอติดตามกันได้อีกในคืนพรุ่งนี้ค่า

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม 1 หน้า 172. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 2559

ข้อมูล : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช #ธี่หยด #ธี่รักษ์ #ฮาโลวีน #มะนาวผี #กรมอุทยานแห่งชาติ #halloween”

คืนวันที่ 24 ต.ค. เวลา 1 ทุ่มตามนัดหมายได้โพสต์ รูปพร้อมข้อความระบุว่า ““พิศวงตาปีศาจ” พืชหน้าตาสุดแปลกคล้ายคนกำลังจ้องมอง พบได้ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก และอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย จังหวัดเลย ค่ำคืนนี้มาพบกับพืชตระกูลพิศวงที่มีความลึกลับ ซ่อนตัวอยู่ใน ผืนป่าอนุรักษ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ หากไม่สังเกตก็ไม่มีโอกาสได้ ชื่นชมหน้าตาของ “พิศวงตาปีศาจ” ได้เลย

“พิศวงตาปีศาจ” พืชกินซากขนาดเล็ก ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ อาศัยราในดินเพื่อการเจริญเติบโต สามารถพบได้ในพื้นที่ที่มี สภาพป่าสมบูรณ์ ซึ่งมักพบอยู่ในบริเวณพื้นป่าที่มีซากกิ่งไม้ ใบไม้ ทับถมใต้ร่มเงาของป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ เช่น บริเวณใกล้น้ำตก ลำธาร ที่มีระดับความสูง 1200-1,300 เมตร มีลักษณะดอกสีขาว แต้มเว้าด้วยสีดำคล้ายหน้ากากกำลังจ้องมอง แต่ก็ไม่อาจทำให้โดดเด่นพอที่จะสามารถพบเห็นได้ง่ายๆ ด้วยลักษณะดอกที่มีขนาดเล็กมาก หากไม่สังเกตก็อาจจะ คลาดสายตาที่จะได้ยลโฉม “พิศวงตาปีศาจ” ได้เลย

จากการสำรวจของนักวิจัย พบว่า พิศวงตาปีศาจ ซ่อนตัวอยู่ในผืนป่า อนุรักษ์เพียง 2 แห่ง ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก และอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย จังหวัดเลย หรืออาจพบได้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศและพืชพรรณ ที่คล้ายคลึงกัน ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย มักออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ของทุกปี สำหรับพิศวงตาปีศาจ ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับ นานาชาติในปี พ.ศ 2561- 2563

ภาพ : นายศราวุฒิ ทองเมือง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ข้อมูล : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช , สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่11 #ธี่หยด #ธี่รักษ์ #ฮาโลวีน #พิศวงตาปีศาจ #กรมอุทยานแห่งชาติ #halloween”

1 ทุ่มวันที่ 25 ต.ค. โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า ““ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ” นักพรางตัวแห่งท้องทะเลไทย พบได้ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ (Ghost pipefish) มีลำตัวทรงยาวแบน ผิวใสหลากหลายสีสัน ทั้งแดง ขาวสลับดำหรือสีเหลือบอื่นๆ มีปากเล็ก ลักษณะรูปร่างคล้ายม้าน้ำ แตกต่างที่มีครีบท้องและหนามแหลมสั้นๆ ทั่วทั้งตัว

เราจะสามารถพบ ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ได้ตามแนวโขดหิน ปะการังหรือกัลปังหา ที่เขตน้ำลึกกว่า 12 เมตร ในมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มักมีพฤติกรรมอาศัยอยู่เป็นคู่ในที่มืด หรือลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ เพื่อแฝงตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ที่อาศัยให้ปราศจากอันตรายจากสัตว์อื่นๆ และเป็นปลาที่ออกหากิน ในเวลากลางคืน โดยกินแพลงก์ตอนสัตว์และครัสเตเชียนขนาดเล็ก เป็นอาหาร

สำหรับ ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ พบได้น้อยมากในน่านน้ำไทย ซึ่งปัจจุบันพบได้ที่หมู่เกาะสิมิลัน พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา นับว่าเป็นสัตว์ทะเลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากรูปลักษณ์ภายนอกและพฤติกรรมการพรางตัว จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เราจะพบนักพรางตัวแห่งท้องทะเลได้ง่ายๆ

ข้อมูล : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน , สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) #ธี่หยด #ธี่รักษ์ #ฮาโลวีน #ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ #กรมอุทยานแห่งชาติ #halloween”

คืนวันที่ 26 ต.ค. โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ““โยนีปีศาจ” พันธุ์ไม้มีเรื่องเล่า จากผืนป่าอนุรักษ์ ค่ำคืนเรื่องราวผีๆ ที่ไม่น่ากลัว แต่น่า “รักษ์” ในผืนป่าอนุรักษ์ ของเราวันนี้ กับพันธุ์ไม้ชื่อประหลาด โยนีปีศาจ หรือมะกอกโคก (Schreberas wietenioides Roxb.) เป็นพันธุ์ไม้หายาก เฉพาะถิ่น พบตามซากภูเขาไฟเก่า ปัจจุบันพบที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง จังหวัดบุรีรัมย์

โยนีปีศาจ ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงประมาณ 10 – 15 เมตร พืชถิ่นเดียว มีผลรูปไข่กลับเปลือกแข็ง แตกออกเป็นสองซีกเมื่อแห้ง เมล็ดมีปีก นอกจากนั้นผลของต้นไม้ประเภทนี้ยังมีสรรพคุณทางยาในการรักษาโรคอีกด้วย และตำนานเรื่องเล่าของ โยนีปีศาจ มีปรากฎอ้างอิงในวรรณกรรม ท้องถิ่นว่า ท้าวปาจิตโอรสแห่งนครธม กับนางอรพิมหญิงสาว สามัญชน ทั้งสองมีความรักต่อกันแต่มีเหตุให้ต้องพลัดพรากจากกัน ต้องผจญภัยในป่าเป็นเวลานานกว่า 7 ปี

ในระหว่างนั้นนางอรพิม เกรงว่าจะเกิดอันตรายกับตัวเอง จึงอธิษฐานจิตขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แปลงร่างให้เธอเป็นชาย โดยขอให้บางส่วนที่เป็นหญิงหลุดหายไป จากร่าง จากนั้นนางจึงนำโยนีหรืออวัยวะเพศหญิงไปฝากไว้ที่ ต้นโยนีปีศาจ เมื่อรอดชีวิตจึงได้นำอวัยวะเพศจากต้น โยนีปีศาจ กลับมาใส่ร่าง กลายเป็นหญิงและครองรักกับท้าวปาจิตดังเดิม

ข้อมูล : อุทยานแห่งชาติภูเวียง – Phu Wiang National Park, เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ #ธี่หยด #ธี่รักษ์ #ฮาโลวีน #โยนีปีศาจ #อุทยานแห่งชาติภูเวียง #เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง #บุรีรัมย์ #ขอนแก่น #กรมอุทยานแห่งชาติ #halloween”

วันที่ 27 ต.ค. โพสต์ภาพ ระบุข้อความว่า ““อึ่งกรายลายเลอะ” สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกลวดลายสุดแปลก ที่ไม่น่ากลัว พบได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี “อึ่งกรายลายเลอะ” หรือ อึ่งผี หรือ อึ่งกรายหมอสมิธ (Smith’s litter frog) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leptobrachium smithi ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ มัลคอล์ม อาเธอร์ สมิธ นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชาวอังกฤษ ที่ได้เข้ามาทำการศึกษาค้นคว้าสัตว์ประเภทนี้ในประเทศไทยและคาบสมุทรมลายู ถูกค้นพบครั้งแรกที่ ต้นน้ำตกพลู บนเขาช่องจังหวัดตรัง เมื่อปี ค.ศ. 1999

อึ่งกรายลายเลอะ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีลักษณะโดดเด่น อาศัยอยู่ในผืนป่าอนุรักษ์ มีดวงตาโปนด้านบนสีแดง หรือส้มเหลืองวาวเสมือนขอบตา หัวใหญ่กว่าลำตัว ขาค่อนข้างสั้น ผิวหลังด้านหลังมีลายสีเข้ม พื้นสีผิวเป็นสีเทา ชอบออกหากินหลังเวลาฝนตก

โดยทั่วไปมักพบ อึ่งกรายลายเลอะ ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มักพบในแนวป่าตะวันตกของประเทศไทยจนถึงแหลมมลายู ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยลงไป จนถึงเกาะลังกาวีในประเทศมาเลเซีย และในประเทศไทยพบมากในบริเวณพื้นป่าใกล้ลำธารในป่าดิบแล้ง ถึงป่าดิบเขา ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี มีเสียงร้องดัง ว้าก ว้าก ว้าก กึกก้องไปทั่วผืนป่าหลังฝนตก ร้องดังเสียงคล้ายเป็ด นอกจากนั้นยังมีนิสัยที่ไม่กลัวคน ไม่ขี้อาย มีลวดลายที่ดูน่ากลัว จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “อึ่งผี” คนท้องถิ่นส่วนมาก มักเรียกชื่อตามเสียงร้องของมันว่า กบว้าก หรือ เดะกอ ในภาษากะเหรี่ยง ปัจจุบัน อึ่งกรายลายเลอะ มีปริมาณลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ที่อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสีย แหล่งที่อยู่อาศัยไปจากเดิม

ภาพ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ข้อมูล : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง #ธี่หยด #ธี่รักษ์ #ฮาโลวีน #อึ่งกรายลายเลอะ #อึ่งผี #เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง #ห้วยขาแข้ง #กรมอุทยานแห่งชาติ #halloween”

ส่วน 1 ทุ่มวันนี้(28 ต.ค.) โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “ท่องลำน้ำตามหา “ถ้ำผีหัวโต” ไขปริศนามนุษย์ยุคโบราณกว่า 3,000 ปี ที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่

ธี่รักษ์ ในผืนป่าอนุรักษ์ก่อนถึงวันฮาโลวีนคืนนี้ ชวนมาตามหาเรื่องผี ๆ แต่ไม่น่ากลัวกัน กับ “ถ้ำผีหัวโต” หนึ่งในถ้ำที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคโบราณแถบทะเลอันดามัน เป็นถ้ำในภูเขาที่มีห้วงน้ำล้อมรอบไปด้วยผืนป่าชายเลน ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ 2 บ้านบ่อท่อ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

“ถ้ำผีหัวโต” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำหัวกะโหลก” เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในบ่งเป็น 2 คู่หา ในอดีตเคยพบกะโหลกศรีษะของมนุษย์โบราณที่มีลักษณะใหญ่กว่าปกติอยู่ภายในถ้ำ และยังพบภาพเขียนสีโบราณอายุราว 2,000-3,000 ปี จำนวนประมาณ 238 ภาพ เขียนด้วยสีแดง ดำ เหลือง น้ำตาล น้ำตาลเหลือง น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเข้ม สามารถแบ่งภาพเขียนตามบริเวณที่พบได้หลายกลุ่มภาพได้แก่ รูปร่างคน , สัตว์ , ไม่เป็นรูปร่างคน ลักษณะพิเศษเป็นรูปมือเท้า กระจายตัวอยู่ทั่วเพดานและผนังถ้ำ ซึ่งมีภาพที่เป็นจุดเด่น คือภาพคนสวมเสื้อลายขวางยาวถึงข้อเท้า มีเขา ยืนหันข้างอยู่บนเพดานหน้าถ้ำ สันนิษฐานว่าอาจเป็นหัวหน้าเผ่าในสมัยโบราณ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ถ้ำผีหัวโต” ที่เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาอาศัยอยู่ตามแถบชายฝั่งทะเลอันดามันแห่งนี้

บรรยากาศภายในถ้ำมีความโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงสว่างส่องเข้าถึง นักท่องเที่ยวสามารถชมภาพเขียนได้ชัดเจน ซึ่งภายในถ้ำมีลักษณะหินงอกหินย้อย ที่เกิดจากการทับถมกันของชั้นเปลือกหอยจนกลายเป็นหิน เป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาหลายพันปี

การเดินทางมาท่องเที่ยวที่ ถ้ำผีหัวโต ต้องเดินทางโดยเรือเท่านั้น จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติถึงท่าเรือบ่อท่อ ระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร และเดินทางต่อโดยบริการของชุมชนโดยรอบ เข้ามาอีกประมาณ 1.6 กิโลเมตร ก็จะถึงทางเข้าบริเวณปากถ้ำ ใช้เวลาประมาณ 2 นาที นอกจากจะได้ชมบรรยากาศภายในถ้ำ ไขปริศนามนุษย์ยุคโบราณแล้ว ยังได้สัมผัสกับบรรยากาศทัศนียภาพของผืนป่าชายเลนบริเวณรอบข้างที่มีความเขียวขจี อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผืนป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศด้วยเช่นกัน

ข้อมูล : อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ Than Bok Khorani National Park #ธี่หยด #ธี่รักษ์ #ฮาโลวีน #ถ้ำผีหัวโต #อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี #ธารโบกขรณี #กระบี่ #กรมอุทยานแห่งชาติ #halloween”

ส่วนอีก 3 แห่ง วันที่ 29 ต.ค. 30 ต.ค. และ 31 ต.ค. ผู้สื่อข่าวจะรายงานคร่าวๆ ประกอบด้วย “เกาะหน้าผี” ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นเกาะที่มีเอกลักษณ์สุดหลอนคือมีหน้าผาที่คล้ายหัวกะโหลกขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล

“เห็ดนิ้วมือคนตาย” เป็นเห็ดที่มีรูปร่างคล้ายกระบอง ปลายมน ผิวหยาบขรุขระ ใต้ปุ่มนูนมีโครงสร้างที่ทำให้กำเนิดสปอร์ฝังอยู่ รูปร่างและขนาดอาจแตกต่างกันบางครั้งอาจขึ้นเป็นแท่งเดี่ยวๆ พบได้ที่ อุทยานฯเขาหลัก-ลำรู่ จ.ภูเก็ต

“จิงจ้อผี” ถึงชื่อจะน่ากลัว แต่เป็นไม้เถาล้มลุก ใบรูปหัวใจ ดอกขนาดเล็ก สีขาว มามารถพบได้อุทยาน ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก

ส่วนรายละเอียด อีก 3 แห่งที่เหลือ รอติดตามได้ทุกคืนเวลา 1 ทุ่ม ตรง ทางเพจเฟซบุ๊ก “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจหาที่เที่ยวตามควันหลงวันฮาโลวีน วันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อพักผ่อนหลังปาร์ตี้ฮาโลวีน วันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา