เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่อาคารหน่วยวิทยบริการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ วัดอินทาราม ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ประชาคมคนรักแม่กลองร่วมกับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย สาขาวัดอินทาราม มูลนิธิชีววิถี (BioThai) และขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) ได้จัดประชุมเครือข่ายผู้นำสร้างความมั่นคงทางอาหารของ จ.สมุทรสงคราม กรณีผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำระบาดและการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยพระเมธีวัชรประชาทร (ดร.หลวงพ่อแดง นันทิโย) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดอินทราราม เป็นประธานเปิดเวทีและบรรยายในหัวข้อ “แนวทางการสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการใช้วิสัยธรรมนำวิสัยทัศน์” มี ดร.อุษา เทียนทอง ตัวแทนประชาคมคนรักแม่กลอง นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และตัวแทนจากภาคเอกชนและภาคประชาชนร่วมเวทีกว่า 100 คน

จากนั้นได้เสวนาเรื่องความเชื่อมโยงของสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการระบาดของปลาหมอคางดำ กับความมั่นคงทางอาหารและระบบเศรษฐกิจของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม มีนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำไทย นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) นายปัญญา โตกทอง เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และนายกิตติคุณ แสงหิรัญ จากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเสวนา

โดยเวทีเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากปลาหมอคางดำ สรุปว่า มีหลักฐานยืนยันว่ามีการนำปลาหมอคางดำเข้ามาประเทศไทยตามเงื่อนไขของกรมประมง โดยบริษัทเอกชน จำนวน 2,000 ตัว อ้างว่าเพื่อการวิจัยและทดลองที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จนปลายปี 2554 พบการแพร่ระบาดต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี 2560 ชาวบ้านเข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่บริษัทเอกชนที่นำเข้าอ้างว่าปลาหมอคางดำได้ตายหมดหลังนำเข้าเพียง 16 วัน และยังอ้างว่าได้ส่งตัวอย่างปลาที่ตายให้กรมประมงแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานการส่งมอบตัวอย่าง ส่วนปี 2567 ปลาหมอคางดำได้ระบาดไปทั่ว 19 จังหวัดรอบอ่าวไทย และจากการศึกษาดีเอ็นเอพบว่าปลาที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีดีเอ็นเออยู่ในกลุ่มเดียวกับกาน่าประเทศต้นทาง

ล่าสุดผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประมงพื้นบ้านใน จ.สมุทรสงครามกว่า 1,400 คน ได้ยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องจากบริษัทเอกชน ในคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติรวมมูลค่า 2,486,450,000 บาท แยกเป็นกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตราไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีสมาชิกกว่า 1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท และกลุ่มประมงพื้นบ้านเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนวันในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ.2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจำนวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท

นอกจากนี้ตัวแทนจากสภาทนายความในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพประมงพื้นบ้าน จ.สมุทรสงคราม จำนวน 54 คน ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงานต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยได้เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อนำเงินฉุกเฉินเยียวยาต่อผู้ฟ้องตามเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งศาลได้รับคำฟ้องแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ

ซึ่งเรื่องนี้เวทีเสวนาเห็นว่า ปลาหมอคางดำ สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชนรากหญ้าผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับประมงเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เฉพาะใน จ.สมุทรสงครามตามการประมาณการจากสรุปคำฟ้องตั้งแต่ปี 2560-2567 รวม 7 ปี มูลค่าเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน 2,486,450,000 บาท ชาวประมงและผู้เพาะเลี้ยงเดือดร้อนกว่า 1,000 ราย นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจต่ออาชีพประมงใน ต.แพรกหนามแดง โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนทางสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมมูลค่า 131,960,538 บาทต่อปี แยกเป็นกระทบต่อผู้เลี้ยงกุ้ง 111,731,660 ต่อปี กระทบต่อผู้เลี้ยงปลา 15,162,278 บาทต่อปี และผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน 5,067,600 บาทต่อปี

ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมจากข้อมูลงานศึกษากระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ที่อ่าวคุ้งกระเบน พบการระบาดของปลาหมอคางดำมีผลกระทบต่อความหลากหลายของสัตว์น้ำ ภายใน 2 ปี ชนิดสัตว์น้ำลดลง 45% ความหนาแน่นลดลง 74.8% มีสัดส่วนปลาหมอคางดำคิดเป็น 60.9% ของสัตว์น้ำทั้งหมด ดังนั้นผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบควรจะได้แสดงออกถึงการไม่ยอมทนต่อการใช้อำนาจและการเอื้อประโยชน์ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมุ่งเน้นการแสดงออกด้วยข้อมูลวิจัยที่พิสูจน์ได้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองไม่ใช่การรวมพวกมากแล้วไปเรียกร้อง ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านตาดำๆ ได้ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อปกป้องการละเมิดสิทธิของตนเอง รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายและป้องกันระบบทุนผูกขาดด้วย