เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงมาตรการการกำกับและดูแลคุณภาพผักและผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ว่า ประเทศไทยนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศจำนวนมาก อย.จึงมีมาตรการในทุกกองด่านอาหารและยา ซึ่งมีการกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณสารตกค้างในผักและผลไม้ อิงตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดูว่าสารแต่ละชนิดไม่ควรมีปริมาณเกินเท่าไหร่ ส่วนสารบางชนิดไม่มีในประกาศของกรมวิชาการเกษตร ทาง อย. ก็จะอิงจากปริมาณมาตรฐานของโคเด็กซ์ (Codex) และถ้าสารตัวไหนที่ไม่มีการกำหนดจาก 2 แหล่งดังกล่าว อย. ก็จะกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำมาก คือ 0.01 ppm หรือ 0.01 ในล้านส่วน ซึ่งถือว่าน้อยมาก

“ในแง่ของกฎหมาย เวลาที่เราเจอสารต่างๆ หากมีค่าที่เรารับรู้อยู่แล้ว เราก็ดำเนินการไปตามนั้น ว่ามีมากหรือน้อยเกินจากที่เรากำหนดหรือไม่และเป็นสารที่เรารับรู้หรือไม่ อย่างที่บอกถ้าเป็นสารที่เราไม่รู้เรากำหนดค่าให้มีได้ ในระดับที่ต่ำมาก เพราะฉะนั้นผักหรือผลไม้ที่มีการนำเข้าที่ด่านเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะสกัดก่อนส่งเข้าประเทศซึ่งจะมีการตรวจ เบื้องต้น ปีที่ผ่านมาเราตรวจเกือบหมื่นกว่ารายการ และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกปีละกว่า 500 รายการ ปีที่แล้วเราพบที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยกว่ารายการ คิดเป็น 35% ซึ่งเราก็ไม่อนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศและดำเนินคดีกับผู้ที่นำเข้าผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินเกณฑ์ที่เรากำหนด ส่วนสินค้าที่ผ่านจากที่ด่านเข้ามาสู่ภายในประเทศแล้ว อย.ก็จะมีการสุ่มตรวจและส่งห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม นี่เป็นมาตรการที่อย.ดำเนินการ” นพ.สุรโชค กล่าว

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แผนปฏิบัติการในปีหน้า ก็จะมีการเพิ่มการตรวจที่ด่าน และตรวจในประเทศ ประมาณ 4,000-5,000 รายการ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มจำนวนสารเคมีที่เราจะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยร่วมกับกรมวิชาการการเกษตรพิจารณาว่าสารตัวใดควรจะต้องมีการกำหนดค่าให้เหมาะสม หรือสารเคมีใดบ้างที่มีการใช้ในต่างประเทศแต่ละประเทศไทยไม่ได้มีการใช้ก็จะมีการทำข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ สำหรับประชาชนที่ซื้อผักผลไม้ไปรับประทานแล้วดีที่สุดก่อนที่จะรับประทานจะต้องล้างทำความสะอาด ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่าจะทำให้สารปนเปื้อนต่างๆ นั้นน้อยลงไปอีก

นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีไทยแพน แถลงพบสารตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคทนั้น ตามกฎหมายหากจะดำเนินการเอาผิดผู้ที่จำหน่ายผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานนั้นจะต้องให้เจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการเก็บตัวอย่างและตรวจสอบนั้นเรื่องนี้ทางอย. จึงได้ขอข้อมูลจากไทยแพนกลับมาและส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บตัวอย่างมาตรวจแล้ว ทั้งนี้ เรื่องนี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 มิติ 1. ในมุมมอง ทางกฎหมายหากมีการใส่สารเคมีซึ่งบางอย่างเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่ง อย. ได้แบนไปแล้ว หากพบปนเปื้อนเกินค่าที่กำหนดถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน 2.มิติความปลอดภัย หากพบสารในปริมาณไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย หรือเกินไปเล็กน้อย หากล้างทำความสะอาดก่อนรับประทานก็สามารถทำให้สารต่าง ๆ ลดน้อยลงไป   

เมื่อถามถึงประเด็นสารปนเปื้อนที่ซึมเข้าไปในผลไม้ นพ.สุรโชค กล่าวว่า การซึมของสารจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารนั้น ๆ ไม่ใช่ทุกชนิดจะซึมเข้าต้นไม้ เช่น ซึมไปที่ ราก ลำต้น ดอกหรือใบ ส่วนการซึมเข้าเนื้อผลไม้นั้นถือว่าน้อยมาก เพราะการออกแบบชนิดสารต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะหวังผลให้มีการซึมไปที่เปลือก หรือดอก เพื่อให้สารนั้นไปป้องกันแมลง และมีการป้องกันเรื่องของความปลอดภัย สารนั้นก็จะไม่ซึมเข้าไปในเนื้อผลไม้ เพื่อไม่ให้เกิดพิษ อย่าง องุ่นที่เป็นข่าว แต่จริง ๆ อยากพูดโดยรวม ว่าผลไม้ที่มีเปลือกหนา ก็จะซึมยาก เปลือกบางก็จะซึมง่าย แต่ธรรมชาติของเปลือกองุ่นที่เรียบเนียน เมื่อล้าง ก็จะทำความสะอาดสารออกได้ง่ายขึ้น

นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า มาตรการที่กองด่านอาหารและยา เป็นจุดสกัดที่สำคัญ ซึ่งจะดูใน 2 ความเสี่ยง คือ 1.บริษัทที่นำเข้ามีความเสี่ยง ก็จะมีการกักสินค้าไว้ก่อนจนกว่ามีการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นไม่มีปัญหา และ 2.ของบางอย่างที่เจอสารปนเปื้อนเยอะ หรือประเทศที่ส่งมามีความเสี่ยง ก็จะกักไว้ก่อน แต่ด้วยผักผลไม้ที่เสียง่าย เมื่อก่อนเราจะไม่ได้กักเอาไว้ ทำให้ทราบข้อมูลในภายหลังว่ามีปัญหา ครั้งต่อไปก็จะมีการกำหนดเป็นประเทศหรือบริษัทที่มีความเสี่ยง แต่มาตรการปัจจุบัน สามารถกักสินค้าไว้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพื่อรอผลการตรวจที่รวดเร็ว ถ้าพิสูจน์แล้วปลอดภัยก็สามารถปล่อยผ่านมาได้

“เราเน้น 2 สารที่แบนไปแล้วคือ คลอร์ไพริฟอส และ พาราควอต และยังมีสารอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ โดยกำหนดสารที่จะต้องตรวจอยู่ที่ 130 รายการ ตอนนี้ก็มีการขยายเพิ่ม ทั้งนี้แล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจได้ 250 สาร บางครั้งก็มีความจำเป็นในการตรวจแล็บของเอกชน แต่เราก็จะเน้นในประเทศที่ส่งมา แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกสาร หากผักผลไม้อะไร ใช้สารอะไรมาก ก็จะตรวจหาสารนั้น หรือประเทศไหนใช้สารอะไรมาก ก็จะต้องตรวจหาสารนั้น อย่างบางประเทศเขาไม่ได้มีการแบน 2 สารที่ไทยแบน เราก็จำเป็นต้องตรวจหาสารนั้นให้มากขึ้น” นพ.สุรโชค กล่าว