3 เยาวชนคนเก่งจาก 3 ภูมิภาค สร้างสรรค์ผลงานตรงโจทย์ ตรงใจกรรมการ คว้ารางวัลไปครองได้สำเร็จจาก กิจกรรมประกวดสุดยอดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (New Gen 2024) ระดับประเทศ ที่ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จัดขึ้นตามโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ สู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อบ่มเพาะทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับเยาวชน ทั้งยังพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้สามารถเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่ ที่จะสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้เป็นไปตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

สำหรับกิจกรรมประกวดสุดยอดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (New Gen 2024) ระดับประเทศ ประกอบด้วยการจัดอบรมให้ความรู้กับเยาวชน รุ่นใหม่อายุระหว่าง 13 – 25 ปี ที่มีความสนใจในการศึกษาเรียนรู้ และมุ่งมั่น สืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรมในพื้นที่ 4 ภูมิภาค จำนวน 101 ราย/ชิ้นงาน และมีเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้าสู่การประกวดฯ ระดับประเทศ จำนวน 24 ราย/ชิ้นงาน

โดยในการจัดกิจกรรมการประกวดรอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ และพิธีมอบรางวัล ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องแอมเบอร์ 2-3 อาคารศูนย์แสดงสินค้า อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน โดยมีนายไพโรจน์ โสภาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการฯรวมทั้งที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาวิชาชีพเข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นักออกแบบ ดีไซเนอร์ผ้าไทยที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และการตลาดมาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน

หลังจากผ่านกระบวนการคัดเลือกและให้ความรู้อย่างเข้มข้น เพื่อนำเสนอชิ้นงานต่อหน้าคณะกรรมการ ผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ คือ นายวรายุทธ สมปาน จากจ.นครพนม เจ้าของผลงานผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าจากเส้นใยขวดน้ำพลาสติก รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ นางสาววาสนา ประชุมทอง สาวใต้จากจ.สตูล เจ้าของผลงานกระเป๋าไหมพรมที่ได้แรงบันดาลใจหม้อข้าวหม้อแกงลิง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ นายธนัชชา ทองเหมาะ หนุ่มเหนือจากจ.เพชรบูรณ์ เจ้าของผลงานผ้าไทหล่มที่มีนำเทคนิคการทอของภาคเหนือมาผสมผสาน

หนุ่มอีสาน ผู้มุ่งมั่นอยากสร้างสรรค์สิ่งทอที่ดีต่อโลก ดีต่อชุมชน​

นายวรายุทธ จากศูนย์ออกแบบและสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ FTCDC เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีโจทย์ชัดเจนว่า ต้องการออกแบบสิ่งทอเหลือใช้ด้วยพลาสติกจากในชุมชน เพราะตนเองเป็นแกนนำในการกำจัดของเสียในชุมชน ซึ่งพบว่ามีขยะขวดน้ำพลาสติกอยู่จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา ปลายทางของการแก้ปัญหาขวดน้ำพลาสติกมักจบลงที่การเก็บไปชั่งกิโลเพื่อขายต่อ ตนจึงอยากต่อยอดความรู้ด้านนวัตกรรม Upcycling ในการแปลงร่างขวดพลาสติกใส PET ให้เป็นเส้นใย เพื่อทดแทนการใช้ฝ้ายในการนำมาทอผ้า​ โดยเฉลี่ยแล้ว ขวดน้ำพลาสติกประมาณ 19-25 ขวด จะสามารถ Upcycling เป็นเส้นใยได้ประมาณ 1 กิโลกรัม สามารถทอผ้าได้ประมาณ 6 เมตร สำหรับผลงานชิ้นนี้ ได้ใช้เส้นใยที่มาจากการ Upcycling ประมาณ 20 เมตร

นายวรายุทธ ยังเล่าถึงความน่าสนใจของเส้นใยที่ได้ว่า นอกจากจะได้ช่วยโลกลดของเสีย ลดต้นทุนในการผลิตไม่ต้องใช้ฝ้าย​ และตัดเย็บแบบให้เหลือเศษผ้าน้อยที่สุด หรือ หากให้จำเป็นต้องเหลือ ก็นำมาใช้กุ๊นเพื่อตกแต่งเป็นลวดลายบนผ้าเพื่อดูมีมิติ ส่วนเส้นใยที่ได้ยังสามารถนำไปย้อมสีด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือการย้อมสีโดยไม่ใช้น้ำ แต่ใช้วิธีฉีดสีลงไปที่เส้นด้ายแทน

“ผมเลือกใช้สี Reactive ซึ่งเป็นสีธรรมชาติ ในการย้อมเส้นใยก่อนจะนำไปทอเป็นผืนผ้า นำปรากฏการณ์ออโรรา (Aurora) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การเกิดแนวแสงสว่างสีต่างๆ บนท้องฟ้ายามค่ำคืนมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ออกเป็นโทนสีเขียว น้ำเงิน ขณะเดียวกันยังไม่ทิ้งกลิ่นอายความเป็นลูกหลานชาวอีสาน ด้วยการออกแบบลวดลายผ้า ให้เหมือนหนอนชาเขียว”

“การได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ตอนแรกผมไม่ได้ตั้งความหวังไปไกลถึงขั้นว่าจะได้รางวัลด้วยซ้ำ แต่เห็นว่ากิจกรรมนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาให้ความรู้ นอกเหนือจากเรื่องการออกแบบ ยังมีความรู้เรื่องการตลาด เทรนด์ต่างๆ รวมถึงการพิชิตใจผู้บริโภค ทำให้ได้ความรู้ดีๆ นำไปปรับใช้เพื่อสานฝันที่อยากจะสร้างแบรนด์ ที่นำภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาผสานกับการนำนวัตกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืนให้ไปไกลในระดับสากล”

กระเป๋าถัก ที่ได้แรงบันดาลใจจากต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงของแม่

มาถึงสาวใต้ นางสาววาสนา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เจ้าของผลงานกระเป๋าถัก ที่ได้แรงบันดาลใจจากต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่คุณแม่ซึ่งมีอาชีพกรีดยางชื่นชอบในรูปร่างที่แปลกตา ถึงขนาดเก็บมาเป็นของประดับบ้าน และยังชอบทำขนมหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้รับประทาน จนทำให้เจ้าตัว รู้สึกคุ้นตาและคุ้นเคยกับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาตั้งแต่เด็ก เมื่อได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ให้มาร่วมกิจกรรมนี้ จึงตัดสินใจสร้างสรรค์ผลงานกระเป๋าถัก โดยใช้รูปทรงของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และไม่มีต้นแบบที่ไหน อาศัยลองผิดลองถูก แถมยังเพิ่มกิมมิกให้ชิ้นงานมีความโดดเด่นด้วยการใช้เทคนิคไหมปักไหม และการใช้สีของไหม เพื่อสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าทางใต้ ที่มีต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงอยู่มาก เช่น สีเขียว เป็นตัวแทนของพืชที่กำลังเติบโต สีน้ำตาลเป็นตัวแทนของดิน และสีฟ้าเป็นตัวแทนของน้ำ เป็นต้น

“จุดเด่นของผลงานนี้ คือ ความแปลก คิดนอกกรอบ กว่าจะออกมาเป็นชิ้นงาน ทั้งแกะทั้งรื้ออยู่หลายรอบ เพราะเราทำตามจินตนาการ ไม่ได้มีแพทเทิร์นให้ทำตาม ซึ่งในอนาคต คิดว่า อยากจะต่อยอด ด้วยการลองนำวัสดุใหม่ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น เชือกกล้วยมาย้อมสีแล้วถักดู น่าจะเพิ่มความสนใจให้มากขึ้น”

สำหรับความประทับใจในการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ นางสาววาสนาบอกว่า การได้รางวัลเป็นสิ่งที่เกินคาด แต่สิ่งที่คุ้มค่า คือ ความรู้และประสบการณ์​ โดยเฉพาะในเรื่องการทำตลาด การสร้างแบรนด์ ที่ประทับใจที่สุด คือ การได้เห็นว่าคณะกรรมการทุกท่านพร้อมเปิดกว้าง และยอมรับไอเดียใหม่ๆ

“ตอนที่ทำชิ้นงาน เรายังแอบคิดว่า ด้วยรูปทรงที่แปลกประหลาด กรรมการจะชอบไหม แต่กลายเป็นว่ากรรมการทุกท่านพร้อมเปิดรับ และยังให้คำแนะนำดีๆไปต่อยอด ซึ่งเป็นกำลังใจที่ดีมากๆ และคิดว่า อยากจะกลับไปทำผลงาน เพื่อนำลองขายที่ศูนย์ OTOP นอกจากนี้อยากฝากบอกไปถึงคนที่อาจจะอยากสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ยังกล้าๆ กลัวๆ หรือไม่มั่นใจว่า ให้ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน กล้าที่จะนำเสนอความเป็นตัวเอง และทำออกมาให้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องกั๊ก เพราะบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าแปลกประหลาด อาจจะมีคนที่ชื่นชอบก็ได้”

ผ้าทอชาติพันธุ์กับการผสมผสานที่กลมกล่อม

ปิดท้ายด้วยนายธนัชชา ทองเหมาจากเฮือนธนัชชาจังหวัดเพชรบูรณ์ ตัวแทนหนึ่งเดียวจากภาคเหนือ ที่เลือกนำผ้าแพรไส้ปลาไหล ผ้าทอพื้นเมืองไทหล่ม ​ที่มีเอกลักษณ์มีเส้นยืนหลายสีๆ คล้ายกับผ้าขาวม้า มาเพิ่มความน่าสนใจด้วยการใช้เส้นพุ่งที่มาพร้อมเทคนิคเกาะล้วง ที่เป็นการปักผ้าให้เรียบเนียนไปกับผืนผ้า แต่มีลวดลายซ่อนอยู่ โดยเสน่ห์ของผลงานชิ้นนี้ คือ การเล่นกับการจับคู่สีสันกว่า 20 เฉด เพื่อรังสรรค์เป็นผ้าคลุมไหล่ ฉีกกรอบของผ้าทอพื้นเมืองไทหล่มแบบเดิมที่เป็นสีโทนหม่น

“ผมเลือกใช้สีจาก ‘Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025’ ตามแนวพระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเลือกใช้โทนสี Warm Embrace : โอบอ้อมอบอุ่น เป็นสีพาสเทล ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกไฮเดรนเยียร์ โดยตั้งใจใช้ความงดงามของเฉดสีที่หลากหลาย ที่สื่อได้หลายอารมณ์ เพื่อสร้างความน่าสนใจ และสะท้อนถึงความหลากหลายของผู้คนในสังคม”

นายธนัชชา บอกเล่าถึงความประทับใจในการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เหมือนเป็นการพาตัวเองออกจากกรอบเดิมๆ มาเรียนรู้และอัพเดตเทรนด์ใหม่ๆ เพื่อก้าวไปให้ทันกับกระแสโลก โดยถือคติ เรียนรู้และต่อยอด คือ ของดั้งเดิมก็ยังไม่ทิ้ง แต่ทำใหม่ เพื่อให้ก้าวทันโลก

“ผมคิดว่า กิจกรรมในครั้งนี้ แตกต่างจากการประกวดอื่นๆ ตรงที่เป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ ในการมาสร้างสรรค์ไอเดีย ทำชิ้นงานคราฟเพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่จริงๆ ซึ่งการได้มาร่วมกิจกรรมทำให้ได้ความรู้ และไอเดียดีๆ มากมายกลับไปใช้ อย่างเรื่องของการใช้สี ที่ผ่านมามา ในฐานะประธานกลุ่มทอผ้าเฮือนธนัชชา ได้มีการปรับเปลี่ยนโทนสีเพื่อให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น มีการใช้สีจากธรรมชาติในการย้อม อนาคตอยากจะพัฒนากระบวนการให้เป็น Zero Waste มากขึ้น”

ในส่วนความท้าทายในการต่อยอดภูมิปัญญาไทยไปสู่เวทีโลก นายธนัชชา มองว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือ การสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก “ผมเชื่อว่า คนที่มองหางานคราฟท์มีอยู่มากมาย แต่จะทำอย่างไรให้แบรนด์ของเราเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งต้องย้อนกลับมาที่การสร้างแบรนด์ ซึ่งผมมองว่า หนึ่งในวิธีการง่ายๆ คือ การพาตัวเอง (แบรนด์) ออกมาเรียนรู้ อัพเดตเทรนด์เทคนิคใหม่ๆ เพื่อนำกลับไปปรับใช้ หรือ การมาร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้ นอกจากจะได้ทักษะและประสบการณ์ ยังเป็นการโชว์ศักยภาพให้คนภายนอกได้รู้จักและเห็นฝีมือของเรา เพราะสุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า ผลงานคราฟของคนไทยทำออกมาแล้วขายได้แน่นอน เพียงแต่ต้องหากลุ่มลูกค้าที่ชอบให้เจอ” นายธนัชชากล่าวทิ้งท้าย