เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  เป็นประธานเปิดงานเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน เพื่อต่อสู้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พร้อมทั้งยังเปิดแบบฟอร์ม และสอนด้วยตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจให้อสม.เกี่ยวกับการลดโรคเอ็นซีดี โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายนำศักยภาพของเครือข่ายสาธารณสุขทุกภาคส่วน รวมถึง อสม. ในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม โดยจากงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ปี 2562 ระบุว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยเอ็นซีดี ปีละกว่า 400,000 ราย และสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 9.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยเป็นค่ารักษาพยาบาลทางตรง 1.39 แสนล้านบาท และความสูญเสียทางอ้อมอีก 1.5 ล้านล้านบาท  ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเอ็นซีดีปี 2560 สูงกว่า 62,138 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 50% ของงบประมาณ สปสช.ปี 2560

“อย่างเบาหวานเพิ่มปีละ 300,000 คน อันนี้ต้องหยุดให้ได้ ความดัน 14,000,000 คน ไต สูญเสียกว่าล้านคน มะเร็ง 4.4 แสนคน ป่วยรายใหม่ 1.4 แสนคนต่อปี ตายปีละ 83,000 คน ซึ่งมะเร็งรวมถึงปัญหาที่เกิดจากบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า แล้วการที่ อสม.มาช่วยตรงนี้ไม่ใช่ว่าจะลดคนตายได้ทันที แต่จะลดผู้ป่วยรายใหม่ได้เนื่องจากรายเดิมเค้าก็มีพฤติกรรมมาก่อนแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญภารกิจของ อสม.คือการให้ความรู้ประชาชน หรือครัวเรือนที่เราดูแลอยู่ โดยจะมีการยกระดับความรู้ลดโรคเอ็นซีดี เพื่อนำไปสื่อสารต่อ ดังนั้น จะเห็นว่า บุคลากรสำคัญที่จะลดคนป่วยหรือทำให้คนไม่ป่วยไม่น่าเชื่อว่าพระเอก นางเอกจะเป็น อสม. แต่หมอพยาบาลก็ยังเป็นหลักอยู่ เพียงว่างานนี้หากเราจะสร้างหนัง พระเอก นางเอกคือ อสม. ปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านคน  เฉลี่ย อสม. 1 คนดูแลประชากรราว 50 คน ดังนั้น อสม. 1,080,000 คนคูณด้วย 50 ก็ประมาณ 50 กว่าล้านคน ถ้า 50 กว่าล้านคนเข้าใจเรื่องนี้จะลดโรคเอ็นซีดีได้ หากคิดเป็นค่าทำประชาสัมพันธ์คน 100 บาท กับ 50 ล้านคนก็เท่ากับค่าทำประชาสัมพันธ์ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินตรงนี้หากทำให้คนไม่ป่วยถือว่าคุ้มค่ามหาศาลแค่ไหน เงินที่ลดได้จากการลดผู้ป่วย ก็ควรนำกลับมาให้ อสม. ซึ่งขณะนี้กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.อสม. ซึ่งยังไม่เข้า ครม.เพราะติดอยู่ที่กรมบัญชีกลาง เนื่องจากมีประเด็นเพิ่มเรื่องที่มาของแหล่งเงินทุน ที่จะตอบแทนลงไปที่ อสม. เบื้องต้น คือจะนำไปใส่ไว้ในกองทุนที่เขียนไว้ในกฎหมาย แต่จะบริหารอย่างไรขึ้นกับในอนาคต ทั้งนี้ต้องมีกรรมการบริหารกองทุน ต้องมีกลไกการดำเนินงานชัดเจน และยังต้องชี้แจงภารงานของอสม.กับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย

“วันนี้ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ต้องเอ่ยขึ้นเพราะว่าตอนนี้ยังมีฉบับเดียวที่เสนอเข้าสู่สภา เพื่อรอร่างของกระทรวงขณะนี้ผมได้เข้าไปคุยกับรมว.คลัง ซึ่งจะประชุมเรื่องนี้ในช่วงสัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่สองของเดือนหน้า จึงขอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ตามให้ด้วย เพราะผู้ใหญ่ได้คุยกันในระดับหนึ่งแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว.