เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่หลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 67 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Anupong Kuttikul” หรือเจ้าของสินค้าออนไลน์ชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความเตือนประชาชน หลังขายสินค้าออนไลน์จนถูกสคบ.ปรับ ซึ่งผู้โพสต์โดนปรับเป็นแสน เพราะไม่ได้จดทะเบียน “การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง” เผย ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกฏหมายข้อนี้ด้วย

โดยเจ้าของโพสต์ ระบุข้อความว่า “ผมโดนสคบ.ปรับเงินรวม 132,000 บาท เนื่องจากการขายสินค้าออนไลน์ ใครมีเวปไซต์ หรือขายของออนไลน์ในทุกรูปแบบต้องอ่านครับ คิดอยู่นานว่าจะเขียนมาบอกคนอื่นดีไหม หรือผมจะโดนเพ่งเล็งอะไรจากหน่วยงานอีกหรือเปล่า แต่คิดแล้วถ้าไม่บอกน่าจะมีคนโดนอีกเยอะมาก และผมคิดว่ามันไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ กับการโดนปรับในครั้งนี้

นอกจากนี้ ผู้โพสต์ระบุข้อความอีกว่า “เริ่มจากช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทของผมได้รับจดหมายแจ้งจากสคบ.ว่า เราได้ประกอบการขายสินค้าทางเว็บไซต์ โดยไม่ได้มีการจดทะเบียน “การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง” หลังจากที่ได้รับจดหมายมา คืองงมาก และเข้าใจมาตลอดว่า เราแค่จดทะเบียนพานิชย์ DBD เราก็ขายของออนไลน์บนเว็บไซต์ได้แล้ว ซึ่งผมเปิดเว็บไซต์มา 10 กว่าปีแล้ว ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกฏหมายข้อนี้ด้วย”

โดย ทาง สคบ ระบุว่า “การจดทะเบียน “การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง” หมายความว่า ถ้าบริษัทของคุณมีการ การขายสินค้าและบริการโดยการใช้สื่อที่ส่งข้อมูลตรงถึงลูกค้า เช่น ทางอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ อีเมล โบรชัวร์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ โดยไม่ต้องใช้ตัวแทนขายในการติดต่อกับผู้บริโภค คุณจะต้องจะทะเบียนกับทางสคบ.”

อีกทั้ง “ในยุคนี้ มันก็เกือบทุกบริษัทนั่นแหละ ที่มีการสื่อสารส่งข้อมูลให้ลูกค้าทางอินเทอร์เน็ต และขายของออนไลน์ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่สคบ. ได้ความว่า ไม่ใช่แค่เว็บไซต์อย่างเดียว การขายของออนไลน์ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือ ช่องทางอื่นๆก็เข้าข่ายต้องจดทะเบียนด้วยเช่นเดียวกัน”

โดยเจ้าของโพสต์ ระบุข้อความอีกว่า “สงสัยมากว่า นี่ผมโง่เองคนเดียวที่ไม่รู้กฏหมายข้อนี้ ทั้งๆที่มีเว็บไซต์ขายของออนไลน์มาเป็น 10 ปีแล้ว หรือคนอื่นก็ไม่มีใครรู้ด้วย ผมก็เลยโทรไปถามผู้ประกอบการธุรกิจแบบเดียวกัน ที่มีขายของออนไลน์เหมือนกัน โทรไป 20-30 บริษัท ปรากฏว่าก็ไม่มีใครรู้กฏหมายข้อนี้เลยสักรายเดียว และไม่มีคนรอบตัวผมจดทะเบียนธุรกิจแบบตลาดตรงเลยสักคนเดียวครับ แม้กระทั้งบริษัทที่สร้างเว็บไซต์ให้กับผม ที่ทำเว็บให้กับบริษัทอีคอมเมิร์ซ ใหญ่ๆหลายราย ก็ไม่รู้ข้อกฏหมายนี้เช่นเดียวกัน”

โดยผู้โพสต์ เล่าอีกว่า “จ่ายค่าปรับ 132,000 บาทโดยไม่ได้โต้แย้งอะไร เพราะปรึกษาหลายๆคนแล้ว ให้ความเห็นตรงกันว่าแย้งไปก็สู้เค้าไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ แต่ไหนๆจะจ่ายทั้งทีแล้ว ขอรู้ข้อมูลหน่อยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็เลยเข้าไปที่ สำนักงานของสคบ. เพื่อจะสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า มีคนโดนปรับแบบผมเยอะไหม แล้วทำไมพวกเราในฐานะผู้ประกอบการณ์ ถึงไม่รู้เลย และก็ได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า คนไม่รู้ตรงนี้เยอะมาก และปัจจุบันมีบริษัทที่จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงทั้งประเทศไทยมีแค่ 800 กว่าบริษัทเท่านั้น ผมก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ นี่มันอะไรกัน ประเทศไทยน่าจะมีเว็บไซต์ขายของออนไลน์เป็นแสน เป็นล้าน เว็บนะ และถ้านับคนที่ไม่มีเว็บ แต่ขายของออนไลน์ด้วย น่าจะหลายล้านรายเลยด้วยซ้ำ ทำไมถึงมีคนจะทะเบียนแค่ 800 กว่าราย แล้วแบบนี้คนที่เหลือจะต้องโดนสคบ. เรียกปรับเป็นแสนๆแบบนี้ทุกคนเหรอ”

อีกทั้ง เจ้าของโพสต์ กล่าวอีกว่า “ผมรู้ดีว่า เราทำผิดแล้วจะมาอ้างว่าไม่รู้กฏหมายไม่ได้ แต่คำถามที่ผมถามเจ้าหน้าที่คือ ทางสคบ. ได้มีการประชาสัมพันธ์ หรือมีความพยายาม จะทำให้ผู้ประกอบการณ์รู้ไหมว่า ต้องมาจดทะเบียนตรงนี้ หรือตั้งหน้าตั้งตา จะปรับเงิน เพื่อเอาเงินอย่างเดียว ทั้งๆที่ปัจจุบันแทบจะทุกบริษัท ทุกร้านค้าก็ ใช้ออนไลน์เป็นช่องทางกันหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เหมือนจะยอมรับว่า “การะประชาสัมพันธ์มันยังไม่ทั่วถึงพอ”

“จุดพีคมันอยู่ตรงที่ ผมถามต่อถึงเรื่องการตรวจสอบว่า ทางสคบ. เป็นคนสุ่มเช็กเว็บต่างๆเอง หรือให้หลักเกณท์ยังไง เจ้าหน้าที่ได้ตอบว่า จะมีคนเขียนคำร้องแจ้งเข้ามา และผู้แจ้งจะได้ส่วนแบ่งจากค่าปรับ 25% ถึงตรงนี้ผมก็เลยรู้ทันทีครับ ผมถามต่อว่าผมสามารถรู้ชื่อของคนที่แจ้งเค้ามาได้ไหมว่าเค้าคือใคร ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่า แน่นอนว่าไม่สามารถแจ้งได้”

“ลองคิดเล่นๆว่า ถ้าปรับสัก 300 บริษัท จะเป็นเงินประมาณ 39 ล้านบาท ส่วนแบ่งค่าปรับ 25% สำหรับคนที่แจ้ง คือ 9.7 ล้านบาท ลองคิดดูว่าจำนวนเงินขนาดนี้ ลองไปวิเคราะห์กันเอาเองว่า ส่วนแบ่งตรงนี้น่าจะเป็นกลุ่มคนไหนที่ได้ไปครับ ซึ่งหลังจากที่บริษัทผมโดนปรับไปได้ไม่ถึงเดือน ก็มีร้าน Multi Brand และ Sports ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ก็ค่อยๆโดนตามทีละรายสองราย ผมเลยเข้าใจได้ว่า “ผู้ร้องเรียน” พยายามไล่ “ตามหมวด” ประเภทธุรกิจ ตอนนี้อาจจะไล่หมวดกีฬา และรองเท้าอยู่ แล้วก็จะตามไปในหมวดอื่นๆต่อไป”

“ถึงตรงนี้ผมคิดว่าข้อกฏหมายนี้ เป็นจุดที่อาจจะมีกลุ่มคนจ้องจะหาผลประโยชน์ได้ เพราะวันนี้ถ้าคุณสุ่มเว็บทั่วไปในอินเตอร์เน็ต เชื่อว่า 95% ยังไม่ได้จดทะเบียนแน่นอนครับ ยังไม่รวมถึงเพจ Facebook และTiktok หรือ ร้านค้าต่างๆที่ใช้สื่อออนไลน์ ขายของซึ่งมีอีกเป็นล้านๆรายแน่นอน และถ้ามีคนรู้ตรงจุดนี้ แล้วไปร้องเรียนสัก 500-1000 เว็บ ลองคิดดูว่าจะได้ส่วนแบ่งเท่าไหร่ มีคนจะต้องเดือดร้อนและเสียค่าปรับตรงนี้อีกเพียบแน่นอน แสนกว่าบาทไม่ใช่เงินน้อยๆ และน่าจะทำให้หลายบริษัทเดือดร้อนได้เลยกับตรงนี้ กับ สภาพเศษรฐกิจแบบนี้”

ข้อสำคัญต่อมาที่เจ้าของโพสต์ต้องเจออีก คือ “ผมเป็นเจ้าของหลายบริษัท และ มีเวปไซต์ ที่ทำธุรกิจคนละเว็บคนละบริษัท แยกกันชัดเจน หลังจากที่โดนปรับไปแล้ว1 เว็บ และจดทะเบียนการตลาดแบบตรงเรียบร้อย ผมก็เลยรีบจะทำการจดทะเบียนอีก 1 เว็บทันที เพื่อจะได้ไม่ต้องโดนปรับอีก ผลปรากฏว่าเจ้าหน้าที่แจ้งว่า จดไม่ได้แล้ว 1 คน 1 กรรมการบริษัทสามารถจดทะเบียนได้แค่ 1 เว็บเท่านั้น ถึงตรงนี้คือ งงมากๆ ทุกวันนี้คนเราขายของหลายอย่าง หลายบริษัทได้ แทบทุกบริษัทก็มีเว็บขายของกันหมด ทำไมถึงมาจำกัดว่าได้คนละ 1 เว็บเท่านั้น เหมือนมาบังคับว่า เราขายของได้แค่อย่างเดียวเท่านั้น เจ้าหน้าที่ก็เลยตอบมาว่า เนื่องจากกฏหมาย พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มีระบุไว้ เพื่อป้องการธุรกิจขายตรงจดทะเบียนหลายบริษัท และอาจจะทำการคล้ายๆแชร์ลูกโซ่ได้”

“โดยตรงนี้ยิ่งทำให้คิดว่ากฏหมายไทยมันล้าหลังมากๆครับ คือ คุณเอาบริษัทขายตรงมารวมกับบริษัทที่ขายของออนไลน์ มารวมในกฏข้อบังคับเดียวกันได้ยังไง มันแทบจะคนละแบบกันเลย ซึ่งเจ้าหน้าก็มีการแจ้งผมว่า มีการนำเสนอให้แก้กฏหมายข้อนี้มาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ผ่านสักที ปัจจุบันผมต้องปิดช่องทางการขายทางเว็บไซต์ไป 1 บริษัท และยังหาทางออกไม่ได้ว่าจะเอายังไงต่อดี หรือต้องรออีกกี่ปี กว่าจะแก้กฏหมายได้”

อีกทั้ง “กฎหมายนี้ควรได้รับการประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบันมีมากมาย และหลายรายอาจไม่ทราบถึงข้อบังคับนี้ ควรมีการเรียกเตือนก่อน เน้นการสร้างการรับรู้เพื่อให้คนมาจดทะเบียน ไม่ใช่เน้นตามจับปรับอย่างเดียว จุดประสงค์เดียวของโพสนี้คือ ไม่อยากให้ใครโดนเหมือนผม ถ้าคุณขายของออนไลน์ จะมีเว็บ หรือไม่มีเว็บ ลองไปตรวจสอบดูและเช็คข้อมูลกับสคบ.ครับ อย่าคิดว่าจะไม่โดน เพราะผมเห็นโดนมาหลายรายแล้ว จดทะเบียนได้รีบจดด่วนที่สุด ก่อนที่จะโดนปรับเป็นแสนครับ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ต่างมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมากอีกด้วย..

ขอบคุณข้อมูล : Anupong Kuttikul