เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นายศักดา นพสิทธิ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และอดีตแกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีสภารับทราบรายงานนิรโทษกรรม แต่โหวตคว่ำของสังเกตของ กมธ. ว่า การประชุมสภาเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นวาระรับทราบรายงานของ กมธ. ตามที่สภาได้ตั้งขึ้นมาแล้ว หลักการคือสภารับฟังรายงานผลการศึกษา แต่เนื่องจาก กมธ. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมเข้ามาด้วย โดยเฉพาะในประเด็นมาตรา 112 โดยแยกจากรายงานผลการศึกษา จึงต้องมีการลงมติในทางการเมือง เมื่อ กมธ. ได้ศึกษาเรื่องนี้โดยลงรายละเอียดรอบด้านในข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว แม้ข้อสังเกตจะไม่ผ่านการพิจารณาของสภา แต่รายงานถูกเสนอต่อสภาแล้ว จึงขึ้นอยู่กับสภาและ ครม. ว่าจะเดินหน้ากฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไรหรือไม่ ซึ่ง กมธ.ศึกษาฯ ก็เป็นพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้ตั้งขึ้นมาเอง หากในอนาคตสภาและรัฐบาลเห็นว่าควรเดินหน้ากฎหมายนิรโทษกรรม ก็อาจมีการตั้ง กมธ. ขึ้นมาร่างกฎหมาย ส่วนจะรับข้อเสนอและข้อมูลของ กมธ.ศึกษาฯ ไปดำเนินการมากน้อยเพียงใด ก็เป็นอำนาจของ กมธ. ที่อาจจะมีการตั้งขึ้นมาในอนาคต

นายศักดา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตการคว่ำข้อสังเกตของ กมธ.ศึกษาฯ เป็นความหวั่นไหวของพรรคเพื่อไทยจนเกินไป กลัวว่าจะไปกระทบกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะท่าทีของทั้งพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ เขามีท่าทีทางการเมืองกับประเด็นมาตรา 112 มาตั้งแต่ต้น พรรคเพื่อไทยเกรงจะมีปัญหาในการทำงานกับพรรคร่วมจึงต้องกลับลำ รวมทั้งการตระบัดสัตย์กับอดีตพรรคก้าวไกล ในการร่วมรัฐบาลก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นคือพรรคเพื่อไทยแสดงให้อำนาจทางการเมืองนอกระบบรัฐสภาเห็นว่า สามารถเป็นผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมได้ เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจในการเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรืออาจได้รับสัญญาณโดยตรงว่าห้ามแตะมาตรา 112 จึงทำให้ผลออกมาตามที่ปรากฏ.