เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิชาการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัฒนาการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เพื่อสนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า จ.นครศรีธรรมราชมีประชากรประมาณ 1.4 ล้านคน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในภาคใต้ตอนบน จากข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs รายใหม่ใน จ.นครศรีธรรมราช ปีงบประมาณ 2566-2567 โดยสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครศรีธรรมราช พบป่วยโรคความดันโลหิตสูง 21,788 คน ลดลงค่อนข้างน้อยเหลือ 20,407 คน คิดเป็นอัตราการป่วย 1,377.08 คน ต่อประชากรแสนคน แต่กลับพบว่า ป่วยโรคเบาหวานจาก 8,839 คน เพิ่มเป็น 9,826 คน คิดเป็นอัตราการป่วย 663.07 คนต่อประชากรแสนคน และป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 19,654 คน เพิ่มเป็น 20,446 คน คิดเป็นอัตราการป่วย 1,380.66 คน ต่อประชากรแสนคน สะท้อนแนวโน้มผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs รายใหม่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การเสียชีวิต 836 คน ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้สู่การสร้างความเข้าใจ ปรับพฤติกรรมคนในพื้นที่ให้มีสุขภาวะที่ดี ชะลอปัญหาการเพิ่มของอัตราผู้ป่วยโรค NCDs รายใหม่ในอนาคต

“โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สสส. ก้าวเดินในเส้นทางการต่อสู้กับโรค NCDs ผ่านบุคลากรที่มีความพร้อม ความเชี่ยวชาญ มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ ผ่าน 5 มาตรการ 1.สร้างระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาวะในพื้นที่ นำไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ต่อไป 2.เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน สื่อมวลชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา 3.พัฒนาชุดความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง 4.อบรมพัฒนาศักยภาพภาคีเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีสู่การเป็นผู้นำสร้างสังคมสุขภาวะแก่คนในพื้นที่ 5.บรรจุหลักสูตรด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” นพ.อารักษ์ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี ถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขระดับชาติที่ทุกฝ่ายต้องเร่งดำเนินการแก้ไข สสส. มุ่งขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก มีองค์ความรู้และนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสมกับคนทุกกลุ่มวัย ช่วยเพิ่มศักยภาพให้คนนครศรีธรรมราชมีสุขภาวะที่ดี ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ ถือเป็นกำลังสำคัญทำให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง ลดการเจ็บป่วย มีอายุคาดเฉลี่ยสูงขึ้น โดยนำร่องลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ลดสาเหตุการตายของประชากรด้วยการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ร่วมไปในทิศทางเดียวกัน

“โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นโรงพยาบาลชั้นนำขนาดใหญ่ของภาคใต้ตอนบนมีองค์ความรู้และนวัตกรรมทันสมัยที่สำคัญมีศักยภาพในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ผู้ใช้ประโยชน์จากความต้องการจริง เพราะไม่ใช่แค่การพัฒนาพื้นที่ แต่เป็นการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ เพื่อเตรียมนำไปขยายผลจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อสนับสนุนการป้องกันการเกิดโรค NCDs ทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว