รายงานข่าวจาก สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช.ครั้งที่ 24/2567  เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ได้พิจารณาวาระที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอเรื่อง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ได้ เสนอวงเงินค่าใช้จ่ายใหม่ สำหรับการจัดทำระบบและค่าบำรุงรักษา ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เซลล์ บรอดแคสต์ ) โดยมีวงเงินค่าใช้จ่ายใหม่ที่ 261 ล้านบาท ลดลงจากข้อเสนอเดิมที่ 278 ล้านบาท  หลังจากเสนอในครั้งแรก ที่ประชุมบอร์ดมีมติให้ทบทวนค่าใช้จ่ายและค่าบำรุงรักษาให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการและสถานีฐานของเอ็นที

โดยที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 17/2567 เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ที่ผ่านมา บอร์ด กสทช.ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 1,030,961,235.54 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับการจัดทำระบบและค่าบำรุงรักษาจำนวน 3 ปี สำหรับการดำเนินการของ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับเบิลยูเอ็น จำนวน 377,457,744 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี จำนวน 375,264,115.54 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้ว  แต่ในส่วนของเอ็นที บอร์ดมีมติให้เอ็นทีทบทวน

สำหรับวงเงินค่าใช้จ่ายใหม่ที่เอ็นทีเสนอมาใหม่ จำนวน 261 ล้านบาท นั้น โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายที่ปรับตามจำนวนสถานีฐาน บนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นต้นทุนผันแปร  โดยกำหนดเป็นช่วง เช่น จำนวนสถานีฐานไม่เกิน 50,000 สถานีฐานจะมีราคาหนึ่ง แต่หากจำนวนสถานีฐานมากขึ้น ราคาจะเปลี่ยนตามช่วงที่กำหนด

นาย สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวในที่ประชุมว่า ทั้ง เอดับเบิลยูเอ็น และ ทียูซี ถือครองแบนด์วิธ มากกว่า เอ็นที ซึ่งมีคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพียง 5 เมกะเฮิรตซ์  ส่วนจำนวนสถานีฐาน เอ็นที มีอยู่เพียง 50,000 สถานี ซึ่งน้อยกว่า 2 ค่ายที่มีจำนวน 1 ล้านสถานี แต่พบว่า ค่าไลเซนส์ซอฟต์แวร์สำหรับสถานีฐานของ เอ็นที กลับสูงถึงเกือบ 80% ของค่าใช้จ่ายที่ 2 ค่ายต้องจ่าย ทาง สำนักงาน กสทช.มีการวิเคราะห์ในส่วนนี้หรือไม่ จำนวน 50,000 กับ 1 ล้านสถานีฐาน ทำไมราคาถึงใกล้เคียงกันมาก ตอนนี้ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะพิจารณา จึงขอให้กลับไปวิเคราะห์ว่า 50,000 สถานีฐาน ค่าไลเซนส์ซอฟต์แวร์จะอยู่ที่เท่าไร และเสนอกลับเข้าที่ประชุม กสทช. อีกครั้ง

ด้าน นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า หากเหลือเพียง 3 ค่ายในการให้บริการ Cell Broadcast จะเสียหายหรือไม่ เพราะจากตัวเลขงบประมาณที่เสนอมารู้สึกแปลก เข้าใจยากและประหลาด ทำอย่างไรเราจึงจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างละเอียดได้ เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใส