เมื่อเวลา10.50น. วันที่ 25ต.ค.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบกรณีการขาดอายุความคดีตากใบและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาหาทางออกกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีสลายการชุมนุมคดีตากใบที่จะขาดอายุความในวันนี้เวลาเที่ยงคืน

แต่ทางนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  เสนอญัตติไม่เห็นด้วย ที่จะนำคดีตากใบมาพิจารณาเป็นญัตติด่วน โดยมีสส.พรรคเพื่อไทย ยกมือรับรอง ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานในที่ประชุม เปิดโอกาสให้มีการอภิปราย เนื่องจากมีความต่างกัน เพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็นก่อนให้มีการลงมติว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยให้เลื่อนญัตติคดีตากใบขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่

จากนั้น นายรอมฎอน อภิปรายถึงเหตุผลในการเสนอญัตติว่า เหตุการณ์ตากใบมีความรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า7,000 คน เป็นปมสำคัญและจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ดังนั้นต้องสะสางเรื่องดังกล่าวอย่างมีวุฒิภาวะเพื่อหาข้อยุติ โดยหาทางออกทางการเมือง พร้อมย้ำว่าขณะนี้กระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและอยู่ในภาวะตีบตัน ทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศกำลังปกครอง ด้วยจริยธรรมหรือไม่ และความยุติธรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขณะนี้ ได้เริ่มเกิดความรุนแรงและคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจนกลายเป็นปมใหม่ ต่อกระบวนการสันติภาพ เชื่อว่า ความไว้วางใจ ต่ออำนาจรัฐกำลังถดถอย เพราะไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนจริงหรือไม่ และในสภาเป็นหน้าที่ทางการเมือง ที่ทำเรื่องยากและท้าทาย ในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทย ต้องนำปัญหา ทางการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชนที่ไม่ลงรอยกัน โดยมีพื้นที่สภารองรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด โดยเฉพาะการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง เช่นเดียวกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรเปิดโอกาส ให้สมาชิกได้อภิปรายหาทางออกปัญหาใหญ่

“เรื่องนี้เป็นปัญหาทางการเมือง แต่ไม่ใช่การเมืองระหว่างพรรคการเมืองแต่เป็นการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชน และอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่เปราะบาง แทนที่จะใช้เสียงระเบิดเสียงปืนมาผูกขาดความจริง ควรจะใช้เวทีนี้ในการหาทางออก” นายรอมฎอน กล่าว

ขณะที่ นายกมลศักดิ์ อภิปรายถึงเหตุผลในการเสนอญัตติว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความน่าเป็นห่วง คดีตากใบไม่อยากให้เป็นเรื่องของพรรคประชาชาติเพียงพรรคเดียวแต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่แสดงความเห็นถึงฝ่ายบริหารในฐานะที่เราอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อสะท้อนไปสู่การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ปัญหาชายแดนภาคใต้เราพูดกันมานานแล้วเหตุการณ์ตากใบเป็นเรื่องหนึ่งนำไปสู่เงื่อนไขใหม่ถ้าหากเราปล่อยโดยที่ไม่ได้ดำเนินการหรือทำให้เรื่องนี้ผ่านไปเลยโดยไม่ใส่ใจ คดีตากใบตอนนี้เราได้บทเรียนอะไรบ้าง ตอนนี้มีการเบี่ยงเบนหลายประเด็นที่ว่าทำไมเพิ่งมาฟ้องตอนนี้ แม้จะได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่คดีอาญายังไม่ระงับ ต้องเข้าใจกว่าประชาชนจะรวบรวมความกล้าออกมาฟ้องร้องรัฐก็เหลือ เวลาอีกแค่ 1 ปีก่อนคดีจะหมดอายุความ ขออย่ามองพวกเขาเป็นโจร เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เราจึงติดตามและอยากให้ฝ่ายบริหารเอาจริงเอาจังติดตามเอาตัวผู้กระทำความผิดลงโทษให้ได้ใน จำเลย 7 คนกับผู้ต้องหาอีก 7 ราย  นี่คือครั้งแรกที่อดีตแม่ทัพ อดีตผู้บัญชาการภาค 9 และผู้บริหารระดับสูงถูกออกหมายจับในกรณีที่ทำให้พี่น้องในพื้นที่เสียชีวิต ดังนั้น อยากให้สภาแห่งนี้สะท้อนให้ผู้ปฏิบัติงานปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่

นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทราบว่ามีคนที่ยังทำงานอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมและภายใต้กระทรวงมหาดไทยแต่ผู้บังคับบัญชา ยังไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้ และยังมีเวลา ถึงเที่ยงคืนของวันนี้ที่จะมอบตัว เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้น

“ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ออกมาขอโทษ แต่ขอให้แสดงความจริงใจด้วยการช่วยแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา95 ว่าด้วยอายุความ แสดงให้เห็นถึงความจริงใจมากขึ้น เพราะคำขอโทษก่อนหน้านี้พี่น้อง 3 จังหวัดก็เคยได้ยินได้ฟังมา 2 ครั้งแล้ว การแสดงความจริงใจประกอบคำขอโทษช่วยเสนอแก้กฎหมายด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคดีตากใบ รวมถึงคดีการชุมนุม อื่นๆด้วย เพื่อให้ชาวบ้านที่นั่นอย่างน้อยที่สุดมีความรู้สึกว่าลุกขึ้นสู้แม้ไปไม่สุดทาง แต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย” นายกมลศักดิ์ กล่าว

ด้านนายประยุทธ์ ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่า ตนลุกขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เห็นด้วยในทุกประการที่นายรอมฎอนและนายกมลศักดิ์พูดมา ตนเสียใจกับผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะมีการเยียวยาหรือไม่ เรื่องนี้ผ่านมา 20 ปี ก็เป็นมรดกความผิด อีก 50 ปีเรื่องนี้ก็ไม่มีวันลืมได้เลย ตนคิดว่าพี่น้องชาวไทยก็มีความคิดอย่างนั้นเช่นกัน ไม่มีอะไรที่จะเห็นแย้งในการที่จะให้กระบวนการยุติธรรม

นายประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมีความสงสัยเหมือนกันว่าถ้าตนเป็นผู้สูญเสีย จะฟ้องตั้งแต่วันแรก แต่ทำไมมาฟ้องในปีสุดท้าย เหลืออีกไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน ตนเสียดาย และอยากให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี หรืออยากให้มีอะไรดลใจให้ผู้ต้องหามามอบตัวด้วยซ้ำไป ซึ่งถือเป็นความคิดไม่ได้แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในสังคมพูดถึงมาตรา 172 ในการให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งมีข้อจำกัดเหมือนกันว่าออกได้ในกรณีใดบ้างการออก พ.ร.ก. มันออกไม่ได้ เฉพาะเจาะจงกรณีใดกรณีหนึ่ง มันก็ไม่ได้เช่นกัน การเรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. ตนก็คิดได้ แต่ต้องคิดในใจคิดออกมาข้างนอกแล้วผิดหมด

“การที่จะเรียกร้องให้ท่านนายกฯ ต้องมารับผิดชอบ ในขณะที่เกิดเหตุ อายุ10กว่าปี นายกฯยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่เลยบ้านเมืองเรามีกระบวนการยุติธรรม มีขั้นมีตอน มีตำรวจ มีอัยการ มีศาล การที่บุคคลละคนจะเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมารับผิดชอบ ท่านประธานเป็นนายกฯ หรือผมเป็นนายกฯ ผมก็คิดไม่ออกว่าผมจะทำอย่างไร การแสดงความเสียใจกับการขอโทษมันก็เป็นเรื่องสง่างาม” นายประยุทธ์ กล่าว

นายประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ผ่านมา 20 ปีแล้ว จะมาเป็นญัตติด่วนอะไร อย่างเรื่อง 6 ตุลา 19 ตนโดนขังลืม ตนเอาเรื่องนี้เข้าเป็นญัตติด่วนได้หรือไม่ ตนไม่ขัดข้อง หากวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านตกลงกันได้ ตนก็พร้อมถอน พร้อมขอให้วิป 2 ฝ่าย ไปคุยกันให้เรียบร้อยว่าจะอภิปรายกี่คน

จากนั้นนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่2 ที่สลับขึ้นมาทำหน้าที่ประธานการประชุม ชี้แจงว่า เท่าที่เจรจากับพรรคการเมืองส่วนมากเห็นไปนี้จะทางเดียวกัน ทุกคนเป็นห่วงเป็นใหญ่ และเข้าใจดีถึงสถานการณ์ก็ เลยมีการพูดคุยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่รับญัตตินี้ แต่จำกัดคน ก่อนที่ทุกฝ่ายจะตกลงกันได้

นายประยุทธ์ จึงลุกขึ้นกล่าวว่า ถือเป็นการลบรอยเลื่อน และคราบน้ำตา ขออย่าเติมเชื้อไฟเข้ามาในกองไฟ ตนขอร้องตนขอถอน ก่อนที่จะมีการเปิดให้ สส. อภิปรายต่อไป.