วันที่ 25 ต.ค.เป็นวันที่คดีตากใบหมดอายุ ซึ่งในโค้งสุดท้าย “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.ให้ควานหาตัวผู้ต้องหาตามหมายจับจนวันที่ 24 ต.ค.ก็ไม่พบสักคน เรื่องนี้ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร บอกว่า เสียใจกับผู้ได้รับผลกระทบ รัฐบาลตั้งแต่สมัย 20 ปีที่แล้วก็ออกมาแสดงความเสียใจและออกมาขอโทษ ตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ตนเองต้องขอโทษในนามรัฐบาลด้วย ก็จะทำให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

“รัฐบาลได้ส่งคำถามไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ได้รับความเห็นว่า กรณีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการตรา พ.ร.ก.เพื่อยืดอายุความ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และมาตรา 174 ในส่วนของดิฉันเองและในส่วนของรัฐบาลอะไรที่ทำได้ก็ทำเต็มที่แน่นอน อยากทำให้ประชาชนได้สบายใจและให้บ้านเมืองได้สงบสุข และไม่อยากให้โยงกับประเด็นการเมืองในทุกๆเรื่อง การจะเยียวยาเพิ่มเติมตามข้อเสนอของ กมธ. ก็ต้องไปดูว่าการเยียวยาก่อนหน้านี้จบตรงไหน และต้องดูว่ามีอะไรเพิ่มเติมที่เราสามารถจะทำได้” นายกฯ กล่าว

ที่รัฐสภา มีการประชุม กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพิจารณาศึกษา และวิเคราะห์กรณีคดีตากใบกับการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ และการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ก่อนการประชุม ตัวแทนเครือข่าย The Patani และ 45 องค์กร ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงประธานในที่ประชุม ให้เร่งรัดติดตามผู้ถูกออกหมายจับในคดีตากใบมาขึ้นศาล ขอให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริง มีอำนาจหน้าที่คล้ายกับ Truth and Reconciliation Commission ของแอฟริกาใต้ แต่ในขอบเขตที่แคบกว่ามาก

(TRC คณะกรรมการค้นหาความจริงและการคลี่คลายความขัดแย้ง ออกรัฐบัญญัติส่งเสริมเอกภาพและการคลี่คลายความขัดแย้งแห่งชาติ ยกเลิกกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดการกีดกันทางเชื้อชาติ จากที่แอฟริกาใต้มีปัญหาเหยียดผิว ข้อเสนอหนึ่งคือมุ่งทำให้เกิดความสมานฉันท์โดยการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ผู้กระทำความผิดยอมสารภาพและแสดงความสำนึกผิด เสียใจในความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว โดยไม่เน้นการลงโทษ )

ทางเครือข่ายฯ ชี้ว่า หากใช้กลไก TRC จะสามารถเชิญจำเลยทั้ง 7 และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นอดีตข้าราชการ มาให้ความจริงแก่คณะกรรมการฯว่า มีบทบาทอย่างไรในกรณีตากใบ เป็นสักขีพยานในเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นบ้าง หากยอมรับว่าได้กระทำความผิด ก็สามารถขอโทษและชดเชยต่อผู้ถูกกระทำหรือต่อญาติได้ และขอให้ ครม.มีมติให้หน่วยราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยอาจรวมถึงพิธีละหมาดฮายัดเพื่อขอพรและขอสันติสุข และจัดให้มีสัญลักษณ์ที่เหมาะสมด้วย

ในที่ประชุม กมธ. ได้แสดงความกังวลที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพราน ไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่เป็นโจทก์ในคดีนี้หลายคน ใน อ.สุไหงปาดี และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสทำให้ประชาชนรู้สึกถูกคุกคาม ขอให้ยุติภารกิจดังกล่าว นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า สมช. คาดการณ์ว่าจะมีการก่อเหตุรุนแรงมากขึ้นหลังหมดอายุความ ซึ่งภาครัฐได้เพิ่มการดูแลพื้นที่ พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย อย่างเคร่งครัด

“และเรื่องเยียวยาจิตใจของผู้เสียหาย ดูว่าทำอะไรเพิ่มเติมได้อีก รวมถึงเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมช. เตรียมการทำข้อเสนอต่อรัฐบาล ให้แต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ ภาครัฐยินดีเปิดพื้นที่ให้พูดคุยแสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ” เหมือนกับว่า เราต้องมานับหนึ่งกันอีกครั้งกับเรื่องตากใบ ว่า จะจัดการพื้นที่อย่างไรเพื่อความสงบสุข

วันที่ 24 ต.ค. สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาโหวตรับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีหลายพรรคการเมืองแสดงท่าทีโหวตคว่ำ ในช่วงเช้า ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย นายณธกร นิธิศจรูญเดช เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์สาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องให้พรรคการเมือง คืนความเป็นธรรมด้วยการนิรโทษกรรมโดยไม่ยกเว้นคดีใด โดยเฉพาะคดี ม.112 ที่ปัจจุบันมีถึง 280 คน ที่ถูกกล่าวหา และ ถูกจองจำถึง 42 คน ไม่มีเหตุผลที่จะคว่ำรายงานฉบับนี้

พรรคการเมืองที่แสดงจุดยืนไม่รับข้อสังเกตรายงานฉบับนี้ เพราะไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีตาม ม.112 เช่น พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ( พปชร.) รวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ส่วน พรรคประชาชน ( ปชน.) เห็นด้วยกับรายงาน อนึ่ง นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.เคยอธิบายทำนองว่า ถ้าเลือกการนิรโทษกรรมผู้ต้องคดี ม.112 อย่างมีเงื่อนไข ก็ต้องห้ามทำผิดซ้ำ แต่รายงานฉบับนี้ไม่ได้มีผลผูกมัดให้คณะรัฐมนตรี ( ครม.) ต้องปฏิบัติตาม

ในห้องประชุม “ต๋อม”ชัยธวัช ตุลาธน กมธ.อภิปรายว่า การนิรโทษกรรมคดี ม. 112 มีข้อดีคือ ฟื้นความสัมพันธ์อันดีของประชาชนต่อสถาบัน อย่างน้อยควรมีพื้นที่ให้ยอมรับได้คือนิรโทษกรรมคดี ม.112 แบบมีเงื่อนไขคือ ให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรมมาพิจารณารายละเอียด พฤติการณ์คดีเป็นรายกรณีว่า สมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาพูดข้อเท็จจริงอะไรเป็นแรงจูงใจทางการเมืองให้ทำผิด ระหว่างการพิจารณาการนิรโทษกรรม ก็ให้พักการดำเนินคดีไว้ก่อน โดยมีเงื่อนไขต้องให้หยุดการกระทำแบบใดบ้าง “อ๋อย”จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ถ้าเห็นว่าเรื่องคดี ม.112 เป็นเรื่องความขัดแย้งทางสังคม การเมือง ก็ต้องไปศึกษาจะมีกระบวนการทางกฎหมายอย่างไร วาระนี้ไม่ใช่วาระที่พรรคการเมืองจะมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดี ถามว่า จะแก้ปัญหาความขัดแย้งกันแบบนี้หรือ

“อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความไม่เห็นด้วย เกรงว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกครั้งใหญ่ โดยเฉพาะที่ระบุว่า ระหว่างยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครม.ควรกำหนดนโยบายให้หน่วยงานยุติธรรมไปดำเนินการ เช่น ให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการ หรือให้ศาลเลื่อนจำหน่ายคดี ปล่อยตัวชั่วคราว อาจทำให้เกิดคำถามเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ รวมถึงข้อ 9.6 ให้คืนสิทธิทางการเมืองแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม แสดงว่า เป็นการรวมการกระทำตาม ม.110 และ ม.112 ด้วย


ในช่วงที่จะลงมติข้อสังเกตรายงาน กมธ.นั้น นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ขอให้สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการรับข้อสังเกตรายงานของ กมธ. ให้เสนอเป็นญัตติขึ้นมาเพื่อให้มีการลงมติ ทำให้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวว่า ตามข้อบังคับไม่จำเป็นต้องมีการเสนอญัตติ ถ้าทำงานไม่ได้ให้เปลี่ยนให้รองประธานสภาคนที่ 2 มาทำหน้าที่แทน พร้อมกับชี้มือไปที่นายพิเชษฐ์ ทำให้นายพิเชษฐ์สวนกลับด้วยน้ำเสียงไม่พอใจเช่นกันว่า “ไม่ต้องชี้หน้า ๆ อยากเป็นก็ขึ้นมา” เรียกเสียงหัวเราะและเสียงฮือฮาจากที่ประชุม

ในที่สุด เวลา 16.40 น. ที่ประชุมลงมติข้อสังเกตรายงาน กมธ. ปรากฏว่า ที่ประชุมลงไม่เห็นชอบข้อสังเกต กมธ.ด้วยคะแนน 269 ต่อ151 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทำให้ข้อสังเกตตกไป โดยสภาจะส่งเฉพาะตัวรายงานให้ ครม.เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รายงานไม่ได้ผูกมัดให้รัฐบาลต้องตรากฎหมาย ทำให้ก้าวต่อไปของการนิรโทษกรรม คือดูว่า สภาจะพิจารณาร่าง 4 ร่างที่พรรคการเมืองและภาคประชาชนเสนอหรือไม่ ครม.จะส่งร่างมาประกบหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบภาค 1 สระบุรี ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชาญ พวงเพ็ชร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) ปทุมธานี กับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ อท 567 ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. กรณีทุจริตในการจัดซื้อถุงยังชีพในโครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุทกภัยใน จ.ปทุมธานี 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2554

ศาลมีคำพิพากษาจำคุก นายชาญกับพวก 2 กระทง กระทงละ 5 ปี รวม 10 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษหนึ่งในสาม เหลือกระทงละ 3 ปี 9 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 18 เดือน อนุญาตให้ประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง อบจ.ปทุมธานีครั้งล่าสุด นายชาญลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย รอบแรกชนะแต่โดนใบเหลือง เมื่อเลือกตั้งใหม่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง พลิกมาชนะ.