นโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ของเจ้ากระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กำลังสร้างแรงกระเพื่อมในหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยเฉพาะการรื้อโครงสร้างพลังงาน ด้วยการเร่งผลักดันระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ซึ่งเป็นที่หมายมั่นปั้นมือว่า คลังสำรองน้ำมันนี้จะสามารถนำน้ำมันที่เก็บสำรองมาใช้ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่ให้ผันผวนไม่ต้องประกาศราคาขึ้นลงกันเป็นรายวัน

โดยภาพรวมแล้วระบบ SPR ไม่ใช่เรื่องใหม่ และในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้และนำเข้าน้ำมันจำนวนมาก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น ก็มีการจัดตั้ง SPR ซึ่งบทบาทโดยรวมแล้วเป็นระบบที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศจัดตั้งขึ้นเพื่อสะสมน้ำมันดิบหรือผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปไว้ในคลังสำรอง เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือเมื่อเกิดวิกฤตด้านพลังงาน เช่น เกิดสงครามการสู้รบ ความขัดแย้งทางการเมือง ภัยธรรมชาติ หรือความผันผวนของตลาดน้ำมันโลก

สำหรับแนวคิดเบื้องต้นของกระทรวงพลังงงานมองว่า SPR เป็นการกำหนดนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ เพื่อสามารถนำน้ำมันที่เก็บสำรองมาใช้ในการบริหารจัดการาคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ลดลงในช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวนสูง รูปแบบคล้ายกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้วิธีการเก็บเงินเข้าออกและปรับอัตราการจัดเก็บน้ำมันแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ บริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้สูงจนเกินไป รูปแบบการสำรองน้ำมันโดยภาครัฐนี้ก็จะคล้ายกันโดยใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ในคลังออกมาจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้ผันผวนแทน โดยไม่ต้องใช้เงินเหมือนกับกองทุนน้ำมันฯ

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานคาดว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่

  • รัฐเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง และมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วัน (อ้างอิงมาตรฐานสมาชิกองค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA) ปัจจุบันไทยมีการสำรองน้ำมันโดยภาคเอกชนเทียบเท่าปริมาณการใช้ได้ 25-36 วัน
  • รัฐมีอำนาจในการต่อรอง ระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
  • รัฐสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศ
  • รัฐสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนต้นทุนอย่างแท้จริง
  • ประชาชนสามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรม


ทั้งนี้ การจัดตั้ง SPR ที่บริหารจัดการโดยรัฐย่อมส่งผลกระทบวงกว้างหลายภาคส่วน โดยจะเกิดผลบวกกับประเทศและคนไทยแน่ๆ แต่ภาคเอกชนผู้ค้าน้ำมันอาจได้รับผลกระทบทางลบ เนื่องจากไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับ SPR ขึ้นมา ซึ่งหากผ่านรัฐสภาแล้ว และหากร่างกฎหายประกาศใช้ได้สำเร็จจะเป็นอีกทางออกหนึ่งทำให้การบริหารจัดการราคาน้ำมันของไทยมีเสถียรภาพและเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การจัดตั้ง SPR ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุน รูปแบบการจัดการจะเป็นอย่างไร จำนวนวันในการสำรองน้ำมันให้เพียงพอใช้ในประเทศควรเป็นกี่วัน คงต้องรอโครงสร้างรูปแบบที่สรุปสุดท้าย เมื่อถึงตอนนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะต้องปรับบทบาทเตรียมรองรับระบบ SPR ที่จะเข้ามาใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนความมั่นคงและเสถียรภาพราคาไปพร้อมกัน