วันที่ 24 ต.ค.67 ซึ่งครบรอบวันสิ้นอายุความคดีตากใบแล้ว จากที่ผู้สูญเสียในคดีฟ้องเจ้าหน้าที่เอง ความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อาญา ม. 288 ประกอบ ม.83 ข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อาญา ม. 288 ประกอบ ม. 80 และ ม. 83 และข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ป.อาญา ม.310 วรรคสอง ประกอบ ม. 290 และ ม. 83

คดีตากใบ เกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.2547  เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำการควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูเว ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำนวนหกคน ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการยักยอกอาวุธปืนลูกซองเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ก่อความไม่สงบ ชาวบ้านเห็นต่าง และชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ.

การประท้วงรุนแรงจนเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม มีการใช้อาวุธจนมีผู้เสียชีวิตทันทีจากการสลายการชุมนุม 6 คน บาดเจ็บสาหัสและชีวิตที่โรงพยาบาลอีกหนึ่งคน ที่ใหญ่ที่สุดคือ การควบคุมตัวผู้ชุมนุมกว่า 1,300 คน เพื่อนำตัวสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างจาก สภ.ตากใบ ราว 150 กิโลเมตร 

การที่รถขนย้ายผู้ชุมนุมมีไม่พอ เจ้าหน้าที่กลับใช้วิธีวางตัวผู้ชุมนุมวางซ้อนทับกันหลายชั้นบนรถบรรทุก จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มในระหว่างที่มีการควบคุมตัวอีก 78 คน ในปี พ.ศ.2552 ผลการชันสูตรพบว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับ ขาดอาหาร-น้ำ และไตวายเฉียบพลันที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

ต่อมา คณะกรรมการอิสระตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงคดีตากใบ ชี้ว่า “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี  แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้น ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในฐานะผู้บังคับบัญชา และยังมีทหารที่เกี่ยวข้องกับการลำเลียงตัวผู้ชุมนุมมีความผิด ซึ่งในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการจ่ายค่าเยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุพพลภาพ
การปลุกผีคดีตากใบขึ้นมา ผิดหรือไม่  เป็นเรื่องสองคนยลตามช่อง คนที่คิดว่าไม่ควรรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เพราะแก้ไขไปแล้ว   เรื่องนี้เปราะบางกับพื้นที่ รัฐบาลขณะนั้นพยามยามทำดีที่สุดแล้ว ก็มี แต่ก็มีคนมองว่า การเยียวยาไม่ใช่การชดใช้ที่ผู้ประสบเหตุต้องการ อย่างไรก็ตามผู้กระทำผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล เพื่อตัดสินชี้ขาด 

“บิ๊กอ้วน ” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม บอกว่า “รู้สึกไม่สบายใจที่มีการหยิบยกเอาคดีตากใบขึ้นมาโทษรัฐบาลนี้ว่าเป็นผู้ร้าย เรื่องนี้เกิดเมื่อ 20 ปีก่อน และนายกรัฐมนตรี ก็ทำตามหน้าที่แล้ว ไม่อยากให้เรื่องถูกขยายความ ซึ่งอาจบานปลายกระทบต่อความมั่นคงของชาติ” ก็เริ่มมีสัญญาณเตือนกันแล้วว่า ให้ระวังเหตุไม่สงบในวันครบรอบเหตุการณ์ 
ห้ามไม่ได้ ที่หลายๆ คนจะมองว่า “เรื่องนี้มีการเมืองเบื้องหลัง”เพราะหยิบยกเหตุการณ์มาขย่มรัฐบาลรัวๆ พยายามโยงว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ ต้องล่าตัว “บิ๊กอ๊อด”มาดำเนินคดี คนในพรรคเพื่อไทยก็ดันไปบอกเองว่า “มีการประสานกับบิ๊กอ๊อด”ก่อนที่อดีต มท.ภ.1 จะลาออกจากพรรค ฝ่ายค้านได้ทีขย่มทำนองว่า “ไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรทำ”
เรื่องพื้นที่ภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ขณะที่การเมืองบางขั้วรุมกินโต๊ะรัฐบาลนั้น ไม่ทราบว่า ได้สนใจขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่ของตำรวจทหารภาคใต้หรือไม่ และเรื่องนี้จะเป็นเหยื่อชั้นดีอีกข้อในการตอดรัฐบาลไปเรื่อยๆ อาจเป็นโจทย์อภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม มันก็ยังอยู่ในกรอบของการถูกตั้งข้อสังเกตว่าใช้เล่นการเมืองหรือไม่

หากถูกปลุกนำมาเล่นการเมือง ก็จะเร่งอุณหภูมิในพื้นที่ 3 จังหวัด เหตุการณ์ถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลาง ไปจนถึงการก่อสถานการณ์โดยพยายามโยงตากใบจะมีมากขึ้น ถ้าผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมมอบตัวสู้คดี รัฐบาลคงทำได้เพียงแค่ต้องช่วยกันขยายรายงานตรวจสอบให้คนรู้ว่า“ชดเชยแล้ว เอาผิดผู้เกี่ยวข้องแล้ว”

จะเป็นโจทย์ที่แก้ยากสำหรับรัฐบาล ถ้าการปั่นกระแสสาเหตุหลัก คือเจตนาหวังผลทางการเมือง.