นางวราภรณ์ โอสถาพันธ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด  กล่าวว่า สยามคูโบต้ามีนโยบายการดำเนินธุรกิจในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรมบนพื้นฐานความยั่งยืน เราจึงมุ่งเน้นไปยังเกษตรกรผู้ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเรา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้เข้มแข็ง ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดความรักและภาคภูมิใจในอาชีพของตัวเอง จึงได้ดำเนิน “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” มาตั้งแต่ปี 2554 โดยมีเป้าหมายพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ มีความตั้งใจในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างชุมชนต้นแบบด้านการเกษตร ด้วยการสนับสนุนของสยามคูโบต้าตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

ล่าสุด ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมมือและสนับสนุนองค์ความรู้ให้แก่ วิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าลำดับที่ 6 และเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งแรกของภาคใต้  ด้วยการส่งเสริมการเพาะปลูกด้วยระบบ KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS นวัตกรรมเกษตรครบวงจร เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตโดยชูจุดเด่นด้านความเชี่ยวชาญในการปลูกขมิ้นชัน  ได้มีการจัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้การศึกษาดูงาน รวมถึงเรียนรู้วิธีการทำการตลาดออนไลน์ ผ่านกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านการตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อให้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งรวมความรู้ด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังเป็นชุมชนเกษตรต้นแบบด้านการใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรครบวงจรในการปลูกพืชสมุนไพร และเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในการผลิตสมุนไพร เกิดการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ชุมชน ต่อยอดรายได้ให้เศรษฐกิจของจังหวัด ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจต่อไป

“ที่ผ่านมาจะเน้นการทำนาและพืชไร่ แต่ครั้งนี้มาสนับสนุนพืช สมุนไพร ซึ่งถือเป็นพืชที่มีความสำคัญในระดับประเทศเพื่อพัฒนาให้คุณภาพมาต่อยอดเป็นผลิตมุ่งเป้าตลาดต่างประเทศด้วย เพราะคูโบต้าเล็งเห็นว่า สมุนไพร เป็นพืชที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าระดับประเทศ เช่นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศจะถามหาเรื่องของการนวดแผนไทย รวมทั้งสมุนไพร เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งถ้าเราเข้าไปผลักดันก็จะไปช่วยเรื่องเศรษฐกิจด้านนี้ให้ยังยืนได้”

หลังจากนี้สยามคูโบต้ากำลังเล็งตั้งศูนย์ฯแห่งที่ 7  ที่จังหวัดชัยนาท เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในการผลิตข้าว แบบผสมผสานครบวงจร นอกจากนี้ยังมองถึงกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกโดยเฉพาะกลุ่มผู้ปลูกดาวเรือง เนื่องจากปัจจุบันตลาดมีความต้องการสูงเฉพาะในที่ปากคลองตลาดมีการซื้อ-ขายวันละถึง 3 ล้านดอก