เมื่อ “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายรัฐบาล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยืนยัน ไม่ถอนร่างผลการศึกษาและคงดำเนินการต่อไป เพื่อให้สภารับทราบว่ามีรายงาน ซึ่งรับทราบไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย และเมื่อรับทราบแล้วก็ต้องมีข้อสังเกตให้ส่งหน่วยงานต่างๆดำเนินการ หรือส่งให้เช่นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการก็ต้องลงมติ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ควรส่งให้ ครม.ดำเนินการต่อก็ไม่ต้องลงมติ ซึ่งตนก็อยากให้การประชุมสัปดาห์หน้าดำเนินการต่อเพื่อจบกระบวนการ

นั่นหมายความว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 24 ต.ค. คงจะมีการนำรายงานดังกล่าว เข้าไปพิจารณาในวารการประชุมสภาฯส่วนท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล โดย “นายวราวุธ ศิลปะอาชา” รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือของพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ว่าได้พูดถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ในส่วนของพรรค ชทพ.เอง เราชัดเจนตั้งแต่เบื้องต้น รวมถึงแนวทางการทำนิรโทษกรรม จะต้องไม่รวมเรื่องมาตรา 112 ไม่เกี่ยวกับคดีทุจริต หรือคดีอาญา นี่คือ จุดยืนของพรรค ชทพ.ตั้งแต่ต้น และทุกพรรคจะมีแนวทางคล้ายคลึงกัน แต่ทั้งนี้ เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะต้องมีการตั้งทีมงานและดำเนินการตามกรอบของสภา

ด้าน “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท. ) กล่าวถึงทิศทางของพรรคในการโหวตรายงานผลการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ยืนยันหลักการเดิมคือไม่แตะเรื่อง มาตรา 112 และการพิจารณาดังกล่าวเป็นแค่ผลการศึกษา และหลายพรรคการเมือง ได้สอบถาม ดู เห็นว่า หลายเรื่องยังไม่มีความชัดเจนจึงขอสงวนสิทธิ์เอาไว้

“ขอยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ถือเป็นความขัดแย้งในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นความเห็นต่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เราอยู่รัฐบาลเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์สูงสุดแก่บ้านเมือง และประขาชน เราจะต้องยึดถือเรื่องนั้นเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้และสามารถทำงานได้ตลอด แต่ในทางกลับกัน หากเห็นตรงกันทุกเรื่องก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี” นายอนุทิน กล่าว

ขณะที่ “นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” สส. จังหวัดหวัดราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช. ) ได้เปิดเผยมติพรรครทสช. เกี่ยวกับผลการศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ไม่รับร่างและโหวตไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ เหตุมีความไม่สมบูรณ์ และเป็นรายงานแบบปลายเปิด ซึ่งได้มีเสนอความเห็นของการนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำความผิดในมาตรา 112 ไว้ 3 แนวทาง ซึ่งทางพรรคต้องการปิดประตูการนิรโทษกรรมมาตรา. 112 ในทุกกรณี

ส่วน “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึง การประชุมสภาฯ วันที่ 24 ต.ค. พิจารณารายงานคณะกมธ.ฯตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า การลงมติมี 2ทางคือ หากสภาฯเห็นชอบข้อสังเกตกมธ. จะส่งให้รัฐบาล แต่จะทำหรือไม่นั้น ไม่มีข้อบังคับ หรือหากสส.ไม่เห็นด้วยข้อสังเกตกมธ. ไม่ต้องส่งให้หน่วยงานใด ทิศทางการโหวตยังระบุไม่ได้ จะเห็นด้วยหรือไม่ พรรคพท.จะปล่อยฟรีโหวตหรือไม่ ต้องหารือในพรรค และฟังคำชี้แจงนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯในฐานะประธานกมธ. ทิศทางโหวตที่ชัดเจนต้องรอวันที่ 24ต.ค.นี้

เมื่อถามว่า หากสภาฯ โหวตไม่รับรายงานกมธ. ถือว่าพรรคพท.เสียหน้าหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า กมธ.ไม่ได้มีแต่พรรคเพื่อไทย มีทุกพรรครวมถึงฝ่ายค้าน ผลการศึกษาไม่ใช่ของพรรคพท. เป็นของทุกพรรค หากสภาฯ ไม่เห็นชอบก็ไม่เป็นไร เป็นแค่ผลกาศึกษา ไม่ใช่กฎหมายพรรคเพื่อไทย และไม่เกี่ยวกับการตราพ.ร.บ. ส่วนการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่บรรจุในวาระหลังจากนี้ เท่าที่ดูมีในวาระหลายฉบับ ดังนั้นสมัยประชุมนี้ไม่ทัน จะเข้าสมัยหน้าได้หรือไม่ ต้องพิจารณา หากมีเรื่องด่วนต้องว่าไปตามข้อบังคับ ส่วนการแก้ไข มาตรา112 ยืนยัน 1,000% พรรคพท.ไม่แก้ไขเด็ดขาด

สำหรับรายงานแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีข้อเสนอให้มีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข ซึ่งกลายเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเกรงว่า ประเด็นนี้จะกลายเป็นสารตั้งต้น ในการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยให้มีการล้างผิดในคดีล่วงละเมิดสถาบัน จึงไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ซึ่งดูเหมือนจะมีเพียงพรรคเดียว ที่น่าจะให้ความเห็นชอบ คือ พรรคประชาชน(ปชน. ) ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ดังนั้นเมื่อผลการศึกษาแนวทางการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องตกไป โอกาสที่จะเห็นการออกกฎหมายล้างผิด ให้กับผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ยังต้องรออีกต่อไป หรือจะตัดเนื้อหาที่นิรโทษกรรมมาตรา 112 ทิ้งเสีย เพื่อทำให้การกฎหมายล้างผิด ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นได้

ดูเหมือนข้อเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก. ) ต่ออายุในคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อจับดูท่าทีจาก “น.ส. แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ หลังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในคดีดังกล่าว นั้นเท่ากับหลังวันที่ 25 ต.ค. เวลา 16.00 น. เท่ากับคดีความจะหมดอายุทันที เพราะอัยการไม่สามารถนำตัวผู้ต้องมาดำเนินคดีได้

ด้าน “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ให้ความเห็นถึงงกรณีรัฐบาลจะออกพ.ร.ก. ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ(รธน.) 60 เพื่อแก้ไขให้คดีตากใบไม่มีอายุความว่า ยังไม่มีข้อสรุป ขอให้ไปถามรองนายกฯ ที่กำกับดูแลด้านความมั่นคง โดยปกติการจะออกพ.ร.ก. จะมีกระบวนการออกกฎหมาย ที่มีความจำเป็น รธน.เขียนไว้ว่า จะออกเพื่อเฉพาะกลุ่มเฉพาะเรื่อง ที่ไม่ใช่เป็นการออกทั่วไป ทั้งนี้ จะต้องมีการศึกษาว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่อายุความเป็นเรื่องของกฎหมาย พ.ร.ก.จะมาใหญ่กว่ากฎหมายได้อย่างไร เมื่อถามอีกว่ากรณีได้กล่าวว่า รอหวังพึ่งปาฏิหาริย์ ปัจจุบันเหลือเวลาอีกแค่ 2 วันก่อนคดีตากใบจะหมดอายุความ ยังหวังพึ่งปาฏิหาริย์ได้อยู่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เท่าที่ทราบ ทุกหน่วยงานก็ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งความพยายามบางครั้งก็ประสบความสำเร็จ ซึ่งรับทราบข้อมูลจากผู้ที่ไปสืบสวน ซึ่งมีหลายคน

ส่วน “นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีผู้เสนอให้รัฐบาลออกพ.ร.ก. เพื่อขยายอายุความคดีสลายการชุมนุมที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า อย่ายัดความโง่ใส่หัวประชาชน การออกพ.ร.ก.ขยายอายุความในความผิดทางอาญา มันทำไม่ได้ เพราะอายุความขึ้นอยู่กับอัตราโทษ แม้อายุความไม่ใช่โทษทางอาญา แต่อายุความที่ยาวขึ้น เป็นโทษกับผู้ต้องหาหรือจำเลย จะไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งศาลฎีกายืนแนวนี้มาตลอด ตนขอวิงวอนรัฐบาลอย่าหลอกประชาชน และวิงวอนประชาชนก็อย่ายอมให้รัฐบาลหลอก รัฐบาลจับผู้ต้องหาไม่ได้ แล้วยังมาหลอกประชาชนอีกว่าจะออก พ.ร.ก.ขยายอายุความ เป็นการหลอกหาคะแนนไปเรื่อย ๆ ทั้งคดีตากใบ และคดีบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ขยายอายุความไม่ได้ คนอยากถูกหลอกไปทางโน้น คนไม่อยากถูกหลอกมาทางนี้ (น่าจะมาทางนี้น้อย)

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ระบุว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีการสลายการชุมนุมที่หน้าสภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 67 นี้ โดยระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมในครั้งนั้นถูกดำเนินคดีจากการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตรวม 85 ราย แต่อย่างใด

กสม.เห็นว่า การดำเนินคดีที่ล่าช้าและปล่อยปละละเลย จนระยะเวลาล่วงผ่านมาเกือบ 20 ปี เป็นการซ้ำเติมความสูญเสียของครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบอย่างไม่อาจยอมรับได้ การที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษ และไม่สามารถทำความจริงให้กระจ่างได้ ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย และเป็นการละเมิดต่อ “สิทธิในการรู้ความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของเหยื่อ” ตามกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ให้การรับรอง

กสม. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่ออำนวยความยุติธรรมกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ดังนี้ 1. เร่งนำตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ทุกรายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อมิให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดโดยอาศัยช่องว่างจาก การดำเนินคดีล่าช้าและการขาดอายุความของคดี 2. ให้มีการเยียวยาความเสียหายที่ มิใช่เฉพาะตัวเงิน การเยียวยานี้หมายรวมถึงการทำความจริงให้ประจักษ์ โดยญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้เสียหายต้องได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์และครบถ้วนอันเป็นการให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของเหยื่อและผู้สูญเสีย 3. ผลักดันแก้ไขกฎหมายให้คดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต เช่นคดีตากใบ เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ

กสม. หวังว่าในโอกาสที่รัฐบาลไทยได้รับเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ คือ การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council – HRC) วาระปี 2568 – 2570 รัฐบาลจะได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรม และการเยียวยาความเสียหายกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบในทุกรูปแบบอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยไม่ปล่อยให้ประชาชนผู้เสียหายได้รับความไม่เป็นธรรมและหมดความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย.

ต้องรอดูว่าในที่สุด ถ้าหากคดีตากใบหมดอายุความ แรงกดดันจะถาโถมเข้าใส่รัฐบาลเข้ามากแค่ไหน รวมถึงสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะลุกลามบานปลายหรือไม่ รวมถึงข้อเสนอของกสม. โดยการ ผลักดันแก้ไขกฎหมายให้คดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต เช่นคดีตากใบ เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ