ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงครามได้นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ต.บางสะแก อ.บางคนที แหล่งปลูกลิ้นจี่ที่ให้รสชาติดีอีกแห่งหนึ่งของ จ.สมุทรสงครามเพื่อเยี่ยมเยียนเกษตรกรและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลต้นลิ้นจี่ช่วงก่อนออกดอกแก่เกษตรกรหลายราย เช่นนางอรชร อยู่ตระกูล อายุ 57 ปี เจ้าของสวนลิ้นจี่ในพื้นที่หมู่ 5 เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศปีนี้ว่า จะเข้าสู่ฤดูหนาวช่วงปลายเดือนตุลาคม และมีโอกาสจะหนาวเย็นกว่าปีที่แล้ว จึงเป็นผลดีที่เอื้อต่อการติดผลของลิ้นจี่ ผลไม้ขึ้นชื่อของ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 5,097 ไร่ เนื่องจากลิ้นจี่จะติดผลเมื่ออากาศเย็นต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียสติดต่อกันอย่างน้อย 5 วันขึ้นไป

โดยช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลิ้นจี่เตรียมแทงช่อดอก แนะนำให้เกษตรกรป้องกันและกำจัดไรกำมะหยี่ ด้วยการฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อราบิวเวอร์เรีย ในอัตราเชื้อบิวเวอร์เรียสด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบแล้วนำไปฉีดพ่นช่วงเวลาเย็น หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น กำมะถัน (ชื่อการค้ากำมะถันผงไบเออร์) ผสมสารจับใบ หรืออามีทราช (ชื่อการค้า ไมแทค) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมกับสารจับใบและปุ๋ยทางใบ (คลีเลท) ที่มีธาตุแคลเซียมโบร่อนตามอัตราที่แนะนำ โดยให้ฉีดพ่นช่วงก่อนลิ้นจี่จะแทงช่อดอกถึงเริ่มแทงช่อดอก จำนวน 2-3 ครั้ง ห่างกัน 4-7 วัน ส่วนกรณีต้นลิ้นจี่ไม่สมบูรณ์แนะนำให้ฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรและปุ๋ยคลีเลทที่มีธาตุแคลเซียม-โบร่อนตามอัตราที่แนะนำ

นอกจากนี้ยังแนะนำให้กักน้ำไม่ให้เข้าสวนเพื่อทำให้น้ำในร่องสวนแห้ง ซึ่งจะทำให้หน้าดินแห้งส่งผลให้ต้นลิ้นจี่สะสมแป้งทำให้ออกดอกสมบูรณ์ถึง 50% อีกทั้งยังแนะนําให้กําจัดวัชพืชด้วยเครื่องตัดหญ้า และควรใช้วิธีรมควันไล่แมลงในช่วงเย็น โดยสุมกองไฟขนาดเล็กและควบคุมปริมาณควันไฟให้อยู่ในสวนเพื่อไล่แมลงศัตรูพืช ซึ่งจะทำให้ต้นลิ้นจี่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและยังได้รับธาตุคาร์บอนเพิ่มอีกด้วย

นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรมักประสบปัญหาลิ้นจี่ออกดอกแล้วไม่ติดผลผลิต สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการระบาดของไรกำมะหยี่ช่วงลิ้นจี่ออกดอกเพราะไรกำมะหยี่จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอกและช่อผลทำให้ส่วนของพืชที่ถูกทำลายปรากฎขนคล้ายกำมะหยี่สีแดงสนิมเหล็ก ยอดหงิกงอ หรือใบบิดเบี้ยว ช่อดอกติดแน่นหยุดการพัฒนาทำให้ดอกและผลร่วง หากมีการระบาดรุนแรงจะทำให้ใบและยอดอ่อนถูกทำลายตลอดปี โดยเฉพาะช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้งและหนาวเย็น จึงแนะนำให้เกษตรกรดูแลต้นลิ้นจี่ให้สมบูรณ์ตั้งแต่ช่วงก่อนออกดอก หากเกษตรกรรายใดมีข้อสงสัยให้สอบถามได้ที่สำนักงานเกษตร จ.สมุทรสงคราม ถนนเอกชัย ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม โทรศัพท์ 034-711711 ในวันและเวลาราชการ

สำหรับ “ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม” กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2551 ทะเบียนเลขที่ สช 55100043 ในปี 2566 ลิ้นจี่ให้ผลผลิต 4,231 ตัน รวมมูลค่า 461 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14 จากมูลค่าสินค้าเกษตรหลักของ จ.สมุทรสงคราม รองจากมะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวน้ำหอมที่มากที่สุด 34,626 ตัน รวมมูลค่า 761 ล้านบาท รองลงมาคือส้มโอ 19,586 ตัน รวมมูลค่า 741 ล้านบาท มะพร้าวตาล 119,135 ตัน รวมมูลค่า 655 ล้านบาท และมะพร้าวผลแก่ 79,972 ตัน รวมมูลค่า 583 ล้านบาท