เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 ต.ค.67 ที่รัฐสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณากระทู้ถาม ของ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.  ถาม รมว.ท่องเที่ยว เรื่อง มาตรการจัดการปัญหาทัวร์นำมีและการส่งเสริมความยั่งยืนของธุรกิจท่องเที่ยวไทย ว่า แนวทางและมาตรการฉุกเฉินเร่งด่วน มาตรการเฉพาะหน้า ในการระงับยับยั้งช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยเพื่อสู้กับทุนเทาอย่างไร แก้ปัญหาธุรกิจทุนที่มีนอมินี เพื่อไม่ให้ต่างชาติเข้ามา รวมถึงจะปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบการควบคุมธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเกิดการจดทะเบียน ทุนนอมินี ที่เป็นการรุกคืบของทุนต่างชาติเข้ามาครอบงำธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย และจะทำอย่างไรที่จะให้เจ้าหน้าที่ที่ถูกนินทาว่าเป็นเทวดาทำหน้าที่ควบคุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเป็นธรรม และถ้ามีผู้ใดพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำตัวปกป้องทุนเหล่านี้ให้ติดต่อที่ไหน เพื่อแจ้งเบาะแส เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยสดใสตลอดไป

ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา  ชี้แจงว่า ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ถ้าจะให้ปัญหาดังกล่าวหายไปต้องอาศัยความร่วมมือจากมัคคุเทศก์ที่ต้องจัดการปัญหา ภายใน เพราะการจดทะเบียนต่างๆ มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กรมการท่องเที่ยว และตำรวจท่องเที่ยวทำงานอย่างหนัก มีการจับกุม พัฒนาระบบAI เพื่อจะเข้าไปช่วยดูแลเรื่องการเอาเปรียบนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ

นายสรวงศ์ กล่าวว่า ส่วนข้อกฎหมายธุรกิจท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์กำหนดไว้ อาทิ ต้องมีผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนนิติบุคคลคนไทยต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า  ร้อยละ 51 คนมีสัญชาติไทยมีอำนาจลงนาม นอกจากนี้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ออกมาตรการทำข้อตกลง กับ 6 หน่วยงาน คือกรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นนอมินี ทำหน้าที่สุ่มตรวจ เบื้องต้นพบว่ามีถึง 40 บริษัท ที่มีการเปลี่ยนรายละเอียดผู้ถือหุ้น จึงได้สั่งปิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงบูรณาการอัพเดทกับกรมการค้า เรื่ององค์ประกอบผู้ถือหุ้นแบบเรียลไทม์ ส่วนในระยะยาวได้มีการหารือเพื่อร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาแล้ว

รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการพบว่านักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาไทยเป็นจำนวนมาก แต่มีปัญหาเรื่องข้อจำกัดสายการบิน จึงได้ขอความร่วมมือไปแล้วว่า ช่วง 3 เดือนจากนี้เป็นต้นไป ไฟล์ที่เคยมีถูกลด และยกเลิกช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะจากอินเดียให้เพิ่มเที่ยวบิน โดยรัฐบาลยังวางโครงการสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น(High Season) ไว้แล้ว ยืนยันว่ารัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ส่วนประเด็นปัญหาเรื่อง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เอาเปรียบผู้ประกอบการไทยและต้องดูระบบการสั่งจองที่ไทยเสียประโยชน์ จึงต้องพยายามพัฒนาการท่องเที่ยวของเรามุ่งสู่ประเทศที่มีศักยภาพ โดยตำรวจท่องเที่ยวและกรมการท่องเที่ยวได้วางมาตรการอย่างชัดเจน มีการจับกุมและสั่งปิดบริษัททัวร์ไปแล้วกว่า 40 บริษัท หากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะให้ชี้เป้ามา ตนรับปากว่าจะพยายามกำจัดทุนเทาเหล่านี้ให้หมด

”มั่นใจว่ามาตรการที่ออกมาจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจมาตรการที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าเช่น Thailand Winter Festival ที่จะมาถึง ได้มอบสิทธิประโยชน์ให้นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากผู้ประสบอุทกภัย รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วย เช่น ยืดระยะเวลาการจ่ายภาษี และออก Soft Loan ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ส่วนลดการทุจริตคอร์รัปชัน ผมมั่นใจอย่างหนึ่งว่าในรุ่นของผมที่นั่งอยู่เป็นเจ้ากระทรวง จะพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ประชาชน และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสบายใจ จะพยายามอย่างยิ่งในการกวดขันไม่ให้มีสิ่งที่สกปรกเกิดขึ้นในกระทรวง หากใครมีเบาะแสสามารถติดต่อมาที่กระทรวง ส่งจดหมายปิดผนึกถึง นายสรวงศ์ เทียนทอง ได้เลย”รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าว.